กรุงเทพโพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์มองสถานะเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 27, 2011 09:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เผยเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันยังคงอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมีดัชนีสถานะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน(ม.ค.54) อยู่ที่ 56.35 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 53.50 ในการสำรวจครั้งก่อน(ต.ค.53)

"สถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน(ม.ค.54) ยังคงอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากค่าดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันทั้ง 3 ครั้งที่ทำการสำรวจ กล่าวคือปรับเพิ่มขึ้นจาก 42.16 เป็น 53.50 และ 56.35 ในการสำรวจครั้งนี้และเป็นระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยปัจจัยเรื่องการลงทุนภาคเอกชนแม้ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับแต่ยังคงอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ ขณะที่ปัจจัยเรื่องการส่งออกยังคงอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งแต่มีแนวโน้มขยายตัวลดลง แสดงให้เห็นว่าบทบาทเรื่องการส่งออกต่อเศรษฐกิจจะมีไม่มากเหมือนช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 58.11 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 56.64 ในการสำรวจครั้งก่อนและเป็นระดับที่สูงกว่า 50 เช่นกัน

"เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าแสดงให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ การขยายตัวด้านการส่งออก ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือกลับปรับตัวลดลง

สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้ามี 6 ปัจจัย ได้แก่ ราคาน้ำมัน สถานการณ์ด้านการเมือง อัตราเงินเฟ้อทั่วไป วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ขณะที่มีปัจจัยบวกจากเรื่องความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่วนค่าเงินหยวนของจีนเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลกนั้นนักเศรษฐศาสตร์ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยร้อยละ 36.1 เชื่อว่าจะส่งผลกระทบด้านลบ และอีกร้อยละ 35.0 เชื่อว่าจะส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ได้สำรวจความเห็นดังกล่าวจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 26 แห่ง จำนวน 83 คน ระหว่างวันที่ 19-25 ม.ค.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ