ภาครัฐ-เอกชนร่วมทดสอบใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงรถโดยสารแก้ปัญหาน้ำมันแพง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 27, 2011 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 10 แห่ง ร่วมลงนามใน MOU เพื่อร่วมมือทำโครงการสาธิตการใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่ใช้เอทานอลซึ่งสามารถผลิตได้เองภายในประเทศเป็นเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

"หากส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลในรถขนส่งขนาดใหญ่ได้ก็จะทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลมีเพิ่มมากขึ้น" นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

ปัจจุบันการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงถึงภาคละ 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด โดยในภาคขนส่ง แบ่งเป็น น้ำมันดีเซลมีการใช้สูงถึง 60% หรือประมาณ 50 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งคิดเป็นปริมาณ 2.5 เท่าของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ที่มีปริมาณการใช้ประมาณ 20 ล้านลิตรต่อวัน

โดยวันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานได้ลงนามดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 9 แห่ง ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.), บริษัท เพโทรกรีน จำกัด, บริษัทสแกนเนีย สยาม จำกัด และบมจ.ปตท.(PTT)

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะที่มีปริมาณการใช้เอทานอลเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพียง 1.3 ล้านลิตรต่อวัน จากกำลังการผลิตทั้งหมดประมาณ 30 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งมาจากโรงเอทานอลที่เดินเครื่องในขณะนี้ 19 โรง จากที่มีโรงเอทานอลได้รับใบอนุญาตให้ผลิตเอทานอลได้ทั้งหมด 47 โรง ทำให้ยืนยันได้ว่าจะมีปริมาณเอทานอลเพียงพอต่อความต้องการใช้อย่างแน่นอน

ด้าน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 20 ล้านบาท จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาถึงข้อดี-ข้อจำกัดของเทคโนโลยี โดยคาดว่าจะมีรถโดยสารประจำทาง 1,000 คัน จะสามารถเพิ่มการใช้เอทานอลวันละประมาณ 100,000 ลิตรต่อวัน หรือลดการใช้น้ำมันดีเซลถึงประมาณ 60,000 ลิตรต่อวัน

ทั้งนี้ ตามแผนพลังงานทดแทน 15 ปี จะต้องมีการใช้เอทานอลให้ได้ 9 ล้านลิตรต่อวันภายใน 2565 ในขณะที่ปัจจุบันมีการใช้เพียง 1.29 ล้านลิตรต่อวัน

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ยังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณาหาแนวทางช่วยค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันถึงแม้ว่าค่าการตลาดจะอยู่ในระดับ 1 บาทต่อลิตร เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดสิงคโปร์เริ่มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 107 ดอลลาร์/บาร์เรล และคาดว่าน่าจะปรับตัวลดลงอีก

ส่วนกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันขายน้ำมันดีเซล B3 เพียงเกรดเดียว เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่จะช่วยกันลดการใช้ปาล์มน้ำมันดิบ เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม และเพื่อให้มีปาล์มน้ำมันมาใช้ในการบริโภคอย่างเพียงพอ

ขณะที่นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมเอทานอลไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิตเอทานอลมีสต๊อกประมาณ 30 ล้านลิตร ซึ่งจะใช้ได้ประมาณ 1 เดือน ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย เพราะผู้ผลิตไม่ต้องการมีสต๊อกมาก เนื่องจากมีปัญหาถูกกดราคารับซื้อเอทานอลจากผู้ค้าน้ำมัน จึงไม่ต้องการที่จะผลิตออกมามาก แต่จะผลิตเท่าที่มีความต้องการใช้ โดยราคาขายเอทานอลในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 22 บาทต่อลิตร ขณะที่วัตถุดิบในการผลิตทั้งกากน้ำตาล(โมลาส) และมันสำปะหลัง ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ และราคาสูง

โดยผู้ผลิตเอทานอลมีการส่งออกมากขึ้น เพราะราคาส่งออกดีกว่าราคาขายในประเทศ ซึ่งมีใกล้เคียงกับที่ขายในประเทศ แต่จะมีต้นทุนต่ำกว่า 1.70 บาท/ลิตร ทั้งนี้การเดินเครื่องผลิตเอทานอลของโรงงานในประเทศจะทำเป็นช่วงๆ ตามปริมาณวัตถุดิบที่มี แต่หากช่วงไหนไม่มีวัตถุดิบก็หยุดเดินเครื่องผลิต

และในปีนี้จะมีโรงงานเอทานอลเปิดใหม่อีก 4 โรง ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิต กำลังการผลิตรวมจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.62 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันมีโรงงานที่เดินเครื่องอยู่ 19 โรง กำลังการผลิตประมาณ 2.9 ล้านลิตรต่อวัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ