นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า นโยบายประชาวิวัฒน์เป็นเพียงการตลาดทางการเมืองเพื่อทำให้เกิดชื่อเรียกที่แตกต่างจากประชานิยม ซึ่งนโยบายประชานิยมหรืออาจใช้ชื่อเรียกอย่างอื่นๆ ไม่ว่าจะเรียกว่า “ประชาวิวัฒน์" หรือ “มาตรการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ" มักถูกออกแบบมาในลักษณะของการนำเงินของรัฐ (ภาษีประชาชน)ไปใช้เพื่อแลกกับคะแนนเสียง สร้างความพอใจ และสร้างทัศนคติให้ประชาชนเป็นผู้รอรับความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว
การนำนโยบายประชานิยมมาใช้อย่างขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบของนักการเมืองในปัจจุบัน อาจจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว ลดทอนความสามารถในการแข่งขัน สร้างภาระทางการคลังที่อาจนำมาสู่วิกฤติฐานะทางการคลังได้ โดยเฉพาะในระยะยาวการใช้นโยบายประชานิยมโดยขาดการเตรียมพร้อมและการสร้างความเข้าใจที่ดีกับประชาชนก็จะทำให้สังคมอ่อนแอลง ประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือ ก็จะขาดความกระตือรือร้นในการช่วยเหลือตนเอง มาตรการการขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องทำควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงและการสร้างวินัยทางการเงินไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมสามารถนำมาใช้ร่วมกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคได้โดยไม่นำประเทศไปสู่ความหายนะ หากนโยบายนั้นไม่ทำลายกรอบนโยบายหลักของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งประกอบด้วย กรอบเป้าหมายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กรอบเป้าหมายความมีเสถียรภาพ อันได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เพดานหนี้สาธารณะ การกู้ยืมของภาคเอกชน ทั้งจากภายในและต่างประเทศ เพดานการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นต้น
โครงการประชานิยมที่ดีต้องไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้เสียประโยชน์ และผู้รับประโยชน์ นั่นคือควรจะเป็นลักษณะ win-win และจะต้องไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนทรัพยากรมากเกินไป คือ ไม่ฝืนกลไกตลาด นั่นเอง อีกทั้งไม่ควรจัดให้มีผลประโยชน์แก่ผู้รับมากเกินไป จนผู้รับประโยชน์เกิดความเกียจคร้าน หรือกล้าเสี่ยงมากเกินไป
และไม่เตรียมภูมิคุ้มกันสำหรับตนเอง (เช่น การออมเงิน การรักษาสุขภาพ การฝึกฝนหาความรู้ความชำนาญ) เนื่องจากฝากอนาคตไว้กับภาครัฐทั้งหมด (ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เป็นกรณีอันตรายจากการมีประกันของรัฐบาล หรือ Moral Hazard of Government Insurance ซึ่งจะมีผลทางลบต่อสังคมโดยรวม ดังนั้นการค้ำประกันใดๆจึงไม่ควรค้ำประกันแบบ 100% แต่ควรให้ผู้เอาประโยชน์จากการประกันร่วมรับผิดชอบด้วย
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลต้องการใช้นโยบายประชานิยมหรือนำเสนอสวัสดิการเพิ่มเติม รัฐบาลต้องตอบคำถามว่าจะหาเงินมาจากไหนเพื่อรองรับมาตรการการใช้จ่ายดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการคลัง เช่น ภาษี การปรับปรุงโครงสร้างภาษีในการเพิ่มรายได้ แต่ภาษีเงินได้ และภาษีนิติบุคคลในปัจจุบันไม่สามารถขยายฐานภาษีได้มากขึ้น
ดังนั้น รัฐจึงควรหันมาพิจารณาภาษีอื่นๆ ที่สามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมได้ด้วย เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สินอื่นๆ เป็นต้น เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้นโยบายประชานิยมได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ส่งผลกระทบให้กับฐานะทางการคลังในระยะยาว อีกทั้งเป็นแหล่งรายได้ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆ ในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม และเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายประชานิยมนั้นเอง