นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ในปี 53 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) จะโตได้มากกว่า 8% มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะโต 7.8% เนื่องจากไตรมาส 4/53 GDP ขยายตัวได้ถึง 4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาส 3/53 จะโตมากกว่า 1% เล็กน้อย
"เศรษฐกิจทั้งปีที่ประมาณว่าจะโตมากกว่า 8% เนื่องจากช่วง ธ.ค.การส่งออกขยายตัวดีขึ้นมากกว่าคาดการณ์ ขณะที่การนำเข้าชะลอตัว ทำให้ส่งผลดีต่ออัตราขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาส 4"นายนริศ กล่าว
ส่วนปี 54 ยังคงคาดการณ์ GDP ไว้ที่ 4-5% แต่จะมีการทบทวนอีกครั้งในเดือน มี.ค.54 ตามกรอบการทบทวนปกติ
นายนริศ กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามระหว่างนี้ ได้แก่ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เนื่องจากการส่งออกยังเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ว่าในปีนี้คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบปีก่อน ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาจากปัจจัยราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
"เงินเฟ้อปรับตัว แบบ moderate แต่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ"ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 54 สศค มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 3-4.5% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2-3%
นายนริศ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในปี 54 ที่นอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าแล้ว ยังมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ยังมีความผันผวน เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงมาตรกร QE รวมถึงยังต้องจับตามาตรการเข้มงวดทางการเงินของจีนด้วย และยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องของราคาน้ำมัน
ส่วนปัญหาการเมืองไม่น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการผลิต หรือการท่องเที่ยว แต่อาจจะกลายเป็น Upside risk ที่สนับสนุนภาวะเศรษฐกิจให้เติบโตให้มากขึ้นหากมีการเลือกตั้ง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้นอาจมีผลทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลง ดังนั้น นโยบายการคลังที่มีการขาดดุลงบประมาณยังคงสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจต่อไป
ด้านปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะจะส่งผลต่อรายได้เกษตรกรที่คาดว่าจะสูงขึ้นประมาณ 16% และสถาบันการเงินไทยที่เข้มแข็งก็ยังได้เปรียบหากเทียบกับประเทศอื่นๆ