สศค.เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.53 ขยายตัวดีกว่าคาด จากการบริโภค-ส่งออกโตต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 28, 2011 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตได้ดี สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัว 10.4% ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคที่ขยายตัว 15.9%

นอกจากนี้ การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.8 โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตร ที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยขยายตัว 7.0%

“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 53 บ่งชี้ถึงทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออกที่ ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 สามารถขยายตัวได้อย่างน้อยตามที่คาดการณ์ไว้เดิมร้อยละ 7.8 เม้จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทและสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 53 ที่ผ่านมา"นายนริศ กล่าว

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และดีกว่าที่คาดการณ์ สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ธ.ค.ขยายตัว 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในไตรมาส 4/53 ขยายตัว 8.2% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 13.0% สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือน ธ.ค.53 ซึ่งขยายตัว 15.9% ทำให้ทั้งไตรมาสขยายตัว 16.4% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 20.9%

ในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัว 28.2% ทำให้ในไตรมาส 4 ขยายตัว 36.0% เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัว 9.5% ส่งผลให้ในไตรมาส 4/53 ขยายตัว 11.5% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ธ.ค.53 อยู่ที่ระดับ 71.9 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลาย และความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล

การลงทุนภาคเอกชนในเดือน ธ.ค.และไตรมาส 4/53 ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันแม้จะมีสัญญาณแผ่วลงเล็กน้อยจากช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 9.9% ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาส 4/53 ขยายตัว 13.6% เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ธ.ค.และไตรมาส 4/53 ขยายตัวในระดับสูงที่ 29.9% และ 32.1% ตามลำดับ

ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง 80.9% ทำให้ในไตรมาส 4/53 ขยายตัวในระดับสูงที่ 78.0% สะท้อนถึงธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังพบว่า บทบาทนโยบายการคลังยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง สะท้อนได้จากรายจ่ายรัฐบาล โดยการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ธ.ค.53 มีจำนวน 167.8 พันล้านบาท ทำให้ผลการเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 54 (ต.ค.-ธ.ค.53) เท่ากับ 598.4 พันล้านบาท ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 55 เท่ากับ 257.1 พันล้านบาท คิดเป็น 73.5% ของกรอบวงเงินลงทุน 350 พันล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ในเดือน ธ.ค.3 เท่ากับ 119.5 พันล้านบาท ขยายตัว 14.7% ทำให้รายได้รัฐบาลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 54 จัดเก็บได้ 387.8 พันล้านบาท ขยายตัว 11.1% ผลมาจากรายได้จัดเก็บจาก ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตน้ำมันและรถยนต์ ที่จัดเก็บได้ในระดับสูง

การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน ธ.ค.53 อยู่ที่ 17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ขยายตัว 18.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งไตรมาส 4/53 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 52.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 20.8%

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกในไตรมาส 4/53 ขยายตัวได้ดีมาจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 12.6% และราคาสินค้าส่งออกที่ขยายตัว 7.3% โดยเป็นการขยายตัวของแทบทุกหมวดสินค้าและทุกตลาด ยกเว้นการส่งออกไปยังออสเตรเลียและมาเลเซียที่หดตัวลง สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากการปรับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ธ.ค.อยู่ที่ 16.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 11.5% ส่งผลให้ทั้งไตรมาส 4/53 มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 48.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 20.1% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 30.5%

ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องมาจากปริมาณการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.7 ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าขยายตัว 6.5% สำหรับดุลการค้าในเดือน ธ.ค.53 และไตรมาส 4/53 เกินดุลต่อเนื่องที่ 1.3 และ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือน ธ.ค.และไตรมาส 4/53 พบว่า การผลิตในภาคการเกษตรขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สำหรับภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงเล็กน้อย โดยเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัว 3.1% โดยเฉพาะจากผลผลิตข้าวนาปีและยางพาราที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ไตรมาส 4/53 หดตัวเพียง -2.9% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -6.6% สำหรับราคาสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 25.8 ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวได้ดีโดยขยายตัว 16.6%

สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติ เดือน ธ.ค.53 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์จำนวน 1.8 ล้านคน ขยายตัว 7.0% ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4/53 อยู่ที่ 4.6 ล้านคน หรือขยายตัว 7.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคบริการจากการท่องเที่ยว

ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือน ธ.ค.3 หดตัวที่ -2.5% ทำให้ทั้งไตรมาส 4/53 ขยายตัวเพียง 2.9% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 9.8% อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค.53 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 109.7 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 99.7 จุด โดยเป็นการปรับตัวกลับเข้าสู่ระดับ 100 จุด บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค.53 ขยายตัว 3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาในหมวดผักและผลไม้ และราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 1.4% สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน พ.ย.53 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 3.9 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน พ.ย.53 อยู่ที่ 41.4% ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60.0%

สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.53 อยู่ในระดับ 172.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.9 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ