พาณิชย์ ชี้การดำเนินความมั่นคงทางอาหารของอินโดฯ เป็นโอกาสผู้ส่งออกไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 28, 2011 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อินโดนีเซียมีแผนที่จะดำเนินการภายใต้โครงการความมั่นคงด้านอาหาร โดยการยกเลิกอากรขาเข้าสินค้าหลัก 30 ชนิด ได้แก่ ข้าวสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย ถั่วเหลือง เป็นต้น เพื่อควบคุมเสถียรภาพของราคาอาหารหลัก ลดความกดดันด้านราคาสินค้าในประเทศที่เกิดขึ้นจากการที่ราคาสินค้าในตลาดต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถจัดหาอาหารได้เพียงพอกับความต้องการบริโภค และเพื่อลดความเสี่ยงทางการผลิตสินค้าเกษตร โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการตามแผนได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ และจะปฏิบัติการต่อเนื่องไปจนกว่าจะมีการประเมินว่าระดับราคาอาหารโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น

"อินโดนีเซีย มีความกังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลต่อการทำลายศักยภาพทางการผลิต ทำให้โลกประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร และส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้สภาวะราคาอาหารในตลาดโลก มีความผันผวนสูงขึ้น และมีผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของอินโดนีเซีย ปรับตัวสูงจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 7 โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหาร อัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2553 ได้ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 17-18"น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว

นอกจากจะใช้มาตรการยกเลิกอากรขาเข้าสินค้าหลัก 30 ชนิดแล้ว ยังมีมาตรการอื่นอีก ดังนี้ 1.การจัดสรรเงิน 3 ล้านล้านรูเปียห์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพื่อลดราคาสินค้า โดยผ่านการดำเนินการทางด้านตลาด

2.จัดหาข้าวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 1.5 ล้านตัน โดยองค์กรของรัฐ (Bulog) 3.จัดหาเครื่องอบจำนวน 1,000 เครื่องให้แก่ศูนย์การผลิตข้าวทั่วประเทศ 4.การพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในเกาะสุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี และ Merauke (ปาปัว) จำนวน 2 ล้านเฮคเตอร์

5.การจัดหาปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร 6.เพิ่มความยืดหยุ่นในการให้ Bulog ซื้อข้าวจากเกษตรกร

นางสาวผ่องพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากถึง 237.5 ล้านคน ถือได้ว่ามากที่สุดในอาเซียน ในปี 2553 มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 6 และเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยในปี 2553 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 414,520 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกไปอินโดนีเซีย 232,856 ล้านบาท และเป็นการนำเข้าจากอินโดนีเซีย 181,644 ล้านบาท

สินค้าส่งออกไทยที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์/ส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก

"การดำเนินโครงการความมั่นคงด้านอาหารดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกอากรขาเข้าของอินโดนีเซียจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายการค้าระหว่างไทยและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดีเพื่อให้การค้าดังกล่าวมีความต่อเนื่องและยั่งยืน ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพสินค้าเกษตรที่ส่งออกด้วย"นางสาวผ่องพรรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ