นักวิเคราะห์คาดแบงก์ชาติอินโดฯไม่ขึ้นดบ.แม้เงินเฟ้อพุ่งสูงในรอบ21เดือน

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 1, 2011 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินเฟ้อของอินโดนีเซียพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 21 ปีในเดือนมกราคม แม้ว่าราคาอาหารเริ่มปรับตัวลดลงแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง ซึ่งอาจยับยั้งให้ธนาคารฯไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียรายงานวานนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม ปรับตัวขึ้นแตะ 7.02% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 6.96% ในเดือนธันวาคม เนื่องจากราคาข้าวและพริกที่สูงขึ้น

รัสมาน เฮเรียวาน หัวหน้าสำนักงานสถิติฯ กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมนับว่าสูง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน อยู่ที่ระดับ 4.18% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.28% ในเดือนธ.ค.

เพอร์บายา ยุทธี ซาดีวา นักวิเคราะห์จาก Danareksa กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มช่วงขาลง แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 4 ก.พ.นี้

นายซาดีวากล่าวว่า ตลาดคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเดือนมกราคมจะอยู่ที่ 6.89% ขณะที่ตัวเขาเองคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.82%

ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียตัดสินใจไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากราคาอาหารที่ผันผวน ตามอย่างบางประเทศในอาเซียน โดยแบงก์ชาติอินโดฯ ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 6.5% มาตั้งแต่เดือนส.ค.2551 เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ได้ให้เหตุผลของการตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ยว่า เป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในประเทศยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 5%

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. กระทรวงการคลังอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 6.1-6.6% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้จะอยู่ที่ 4-5%

ขณะที่ ฮัตตา ราจาซา รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย กล่าวว่า แรงกดดันด้านราคาอาหารที่ผันผวนจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

สำหรับเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในอียิปต์นั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในอินโดนีเซียมากนัก

รัฐบาลอินโดนีเซียได้เปิดเผยมาตรการลดแรงกดดันด้านราคา ซึ่งรวมถึงการระงับภาษีนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์อาหาร 57 รายการภายในสิ้นปีนี้ และขอให้ประชาชนปลูกพริกไว้ใช้เอง หลังจากที่ราคาพริกพุ่งทะยานขึ้นถึง 5 เท่าในเดือนม.ค. นอกจากนี้ คาดว่า การเก็บเกี่ยวข้าวในบางพื้นที่ในช่วงเดือนก.พ.-เม.ย.นี้ จะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ