ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) จากการที่นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เพราะมองว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในอียิตป์ยังไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในตะวันออกกลาง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์จลาจลในอียิปต์เริ่มบรรเทาลง
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 1.07% เมื่อเทียบกับยูโรที่ระดับ 1.3832 ยูโร จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.3685 ดอลลาร์ และดิ่งลง 0.79% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ระดับ 1.6140 ยูโร จากระดับ 1.6014 ยูโร
นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.89% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 81.340 เยน จากระดับ 82.070 เยน และร่วงลง 0.94% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9351 ฟรังค์ จากระดับ 0.9440 ฟรังค์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 1.51% แตะที่ 1.0113 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9963 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ทะยานขึ้น 1.28% แตะที่ 0.7812 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7713 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนเทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอียิตป์ยังไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ยืนยันว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งหน้า
มูบารัคจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ให้นายมาร์แชล ฮุสเซน รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และนายอาห์เหม็ด อาบูล เกห์ท รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศตามเดิม ขณะที่ผู้ประท้วงกล่าวว่าพวกเขาไม่ต้องการเห็นนักการเมืองหน้าเก่าในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยจนถึงขณะนี้ผู้ประท้วงนับล้านคนของอียิปต์ยังคงปักหลักชุมนุมขับไล่มูบารัค และเรียกร้องให้มีการผละงานประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อต่อต้านการคอรัปชั่นของรัฐบาล และปัญหาความยากจนในประเทศ พร้อมเรียกร้องให้มูบารัคลงจากตำแหน่งหลังจากที่บริหารประเทศมานานถึง 30 ปี
นอกจากนี้ ข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์และหันไปซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า รวมถึงตลาดหุ้นและสกุลเงินอื่นๆ โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนม.ค.ขยายตัวที่ระดับ 60.8 จุด พุ่งขึ้นจากเดือนธ.ค.ที่ระดับ 58.5 จุด และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 58 จุด และทำสถิติขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐให้ขยายตัวต่อไปได้
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นหลังจากนักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะขึ้นดอกเบี้ยภายในปี 2554 หลังจากประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ 4.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้
เฮเลน คีแวนส์ นักเศรษฐศาสตร์จากเจพีมอร์แกน คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียจะสูงขึ้นในช่วงกลางปี 2554 ซึ่งจะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.50% ภายในปีนี้
ขณะที่ เฟลิซิตี้ เอมเมตต์ นักเศรษฐศาสตร์จากรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ คาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะคงอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ แต่คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพ.ค. เนื่องจากความเฟื่องฟูในอุตสาหกรรมเหมืองแร่
ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีภาคบริการเดือนม.ค., ยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนธ.ค. และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค. โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 145,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 103,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 9.5% ในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้นจาก 9.4% ในเดือนธ.ค