นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จากการติดตามสภาวะอากาศและปริมาณฝนจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ พบว่า ขณะนี้ใกล้เข้าสู่ภาวะภัยแล้ง ซึ่งจากปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรที่ผ่านมา ประกอบกับผลผลิตราคาสินค้าเกษตรที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ในปีนี้เกษตรกรจะมีความต้องการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น
รวมถึงปรากฏการณ์ลานีญาที่ยังมีอิทธิพลอยู่ จึงคาดว่าสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งในปีนี้จะไม่มีความรุนแรงมากนัก ถึงแม้ว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศยังอยู่ในเกณฑ์น้อย และมีแนวโน้มว่าปริมาตรน้ำในเขื่อนหลายแห่งมีระดับลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพับัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2554 ซึ่งได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตรเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ตุลาคม 2553 - มีนาคม 2554 และ ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่เมษายน - กันยายน 2554 โดยได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในแต่ละช่วงทั้งปัญหาอุทกภัย ปัญหาภัยแล้งฝนทิ้งช่วง และปัญหาการระบาดศัตรูพืช โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ
มาตรการก่อนเกิดภัย ประกอบด้วยการก่อสร้าง และปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาภัย การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัย จัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย การเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน การประชาสัมพันธ์และให้คำแนะนำทางวิชาการ
ขณะเกิดภัย ได้แก่ การติดตามและแจ้งเตือนภัย การประเมินผลกระทบและการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น การรายงานศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรระดับจังหวัด
และหลังเกิดภัย โดยให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นเงิน และการพื้นฟู
"กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรประจำปี 2554 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาพิบัติด้านการเกษตร และช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นแก่เกษตรกร และลดภาระงบประมาณของรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย" นายธีระ กล่าว