เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในโลกอาหรับ กลุ่มประเทศตะวันออกจะแสดงความกังวลว่า ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นและตลาดหุ้นจะดิ่งฮวบ
แต่ในขณะที่การชุมนุมประท้วงในกรุงไคโรทวีความรุนแรงขึ้น และกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ปะทะกันอย่างรุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้านปธน.มูบารัคนั้น ก็ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสหรัฐอเมริกา
จนถึงขณะนี้ ราคาน้ำมันยังไม่มีสัญญาณว่าจะพุ่งขึ้นรุนแรง โดยราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นเพียง 9 เซนต์ ปิดที่ระดับ 90.86 ดอลลาร์/บาร์เรลในการซื้อขายเมื่อวานนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า อียิปต์มีส่วนในผลผลิตน้ำมันทั่วโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากเกิดภาวะอุปทานตึงตัวในอียิปต์ ก็ไม่ได้หมายความว่าอุปทานในตลาดน้ำมันโลกจะตึงตัวไปด้วย
ขณะเดียวกัน ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์พุ่งขึ้นเหนือระดับ 12,000 จุดเป็นวันที่สองติดต่อกันเมื่อวันพุธ จากการคาดการณ์ที่ว่า ปัญหาต่างๆในอียิปต์จะได้รับการคลี่คลายอย่างสันติ
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์ยังคงกังวลว่า หากเหตุการณ์ไม่สงบลุกลามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและตลาดสหรัฐ และในกรณีที่รุนแรงที่สุดนั้น ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบที่สองได้
นายดั๊กลาส อิลเลียต นักวิเคราะห์จาก Brookings Institution กล่าวว่า "เราไม่ทราบว่าสถานการณ์จะดำเนินไปอย่างไร ถ้าหากสถานการณ์รุนแรงถึงขีดสุดก็อาจจะฉุดตลาดร่วงลงได้ แต่สถานการณ์ก็อาจจะไม่เลวร้ายถึงขนาดนั้น เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเอง"
ขณะที่นายฟรานซิสโก ทอร์รัลบา นักเศรษฐศาสตร์จาก Ibbotson Associates กล่าวว่า หากความวุ่นวายทางการเมืองลุกลามไปยังประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบีย อิรัก หรืออิหร่าน ราคาน้ำมันก็จะพุ่งขึ้นและจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐกำลังจะหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930
นายทอร์รัลบากล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการกีดกันทางการค้าในด้านการส่งออกสินค้าทางการเกษตรในอียิปต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ชุนนุมประท้วง นอกเหนือไปจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นและราคาอาหารที่แพงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศจีน, ญี่ปุ่น, ประเทศในกลุ่มยูโรโซน และประเทศอื่นๆที่ต้องนำเข้าอาหาร
นักวิเคราะห์หลายคนกังวลว่า สหรัฐอาจเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่ออัตราว่างงานและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะชะงักงัน
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า อินโดนีเซียและตุรกีกำลังเผชิญความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อสูง ในขณะที่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่บางประเทศ อาจจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวร้อนแรงเกินไป
บทความโดย แมทธิว รัสลิง จากสำนักข่าวซินหัว