นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ"นโยบายการเงินกับยุคทองของเอเชีย" ว่า ยุคทองของเอเชียมีนัยต่อประเทศไทยในแง่มิติของโอกาสและความท้าทาย เพราะเรามีความใกล้ชิดทางด้านภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมและการเมืองที่จะส่งผลให้ไทยมีโอกาสสูงที่จะแสวงหาประโยชน์จากการค้าและการลงทุน แต่ก็มีความท้าทายอยู่ คือ การพัฒนาศักยภาพของไทย เพื่อให้ใช้โอกาสของยุคทองของเอเชียได้อย่างเต็มที่
อีกประการคือการรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ ที่จำเป็นอย่างมากที่การดำเนินนโยบายการเงิน สถาบันการเงิน ตลอดจนนโยบายการคลังต้องสอดคล้องกันและเหมาะสม ซึ่งธปท.ยินดีที่จะรับฟังมุมมองจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน และพร้อมที่จะร่วมมือพัฒนาขีดความสามารถของไทยต่อไป
"หากไทยต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนี้อย่างมั่นคง จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีและระบบการผลิตที่พัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากไทยไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถให้เพิ่มขึ้นเพียงพอ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นประเทศชายขอบที่ถูกทิ้งให้ย่ำอยู่กับที่ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วในยุคทองนี้" ผู้ว่า ธปท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยุคทองทำให้ภาคเอกชนและรัฐบาลมีความระมัดระวังน้อยลง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงจากความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นหัวจักรเศรษฐกิจหลักของเอเชีย ตลอดจนความเสี่ยงจากเงินทุนที่ไหลเข้าซื้อสินทรัพย์ในประเทศเอเชียในปริมาณที่สูง เพราะมีปัจจัยพื้นฐานดีกว่าประเทศจี 3 ถือเป็นความท้าทายสำคัญต่อการรักษาสมดุลเศรษฐกิจไทยและเอเชียโดยรวม
ผู้ว่าธปท. กล่าวต่อว่า ในส่วนของไทย ธปท.ไม่สามารถที่จะจัดการกับความท้าทายได้เพียงลำพัง จึงจะต้องให้ภาครัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือด้วย ซึ่งการปรับดอกเบี้ยนโยบายในระยะที่ผ่านมา นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อแล้ว ยังจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างสมดุลในระยะต่อไปด้วย เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ติดลบเป็นเวลายาวนาน ขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องอาจทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ของธุรกิจและประชาชนเร่งขึ้นจนนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ได้
ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินในยุคทองของเอเชีย จำเป็นต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆ ของประเทศหลักรวมทั้งกลุ่มประเทศเอเชียอย่างใกล้ชิดประกอบกัน โดยเฉพาะเมื่อความเชื่อมโยงของไทยกับภูมิภาคมีการเติบโตอย่างร้อนแรงสูงขึ้นจะทำให้การส่งผ่านความเสี่ยงเป็นไปได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือด้วย เช่น เครื่องมือที่ให้ประชาชนสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้รองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ดีขึ้น และพัฒนาขนาดและความลึกของตลาดการเงินผ่านความร่วมมือภาคเอกชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.พยายามทำเพื่อเสริมการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อไป