การขยายตัวในภาคการผลิตของจีนในเดือนม.ค.ชะลอตัวลง หลังจากที่รัฐบาลได้พยายามลดแรงกดดันด้านราคาลง โดยสมาพันธุ์ลอจิสติคส์และการซื้อของจีน (CFLP) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนขยายตัวที่ระดับ 52.9 จุด ซึ่งเป็นสถิติที่ขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.ที่ 53.9 จุด
อัตราการขยายตัวของภาคการผลิตจีนในเดือนม.ค.บ่งชี้ว่า ดัชนีชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังคงอยู่เหนือวัฏจักรเศรษฐกิจสูงสุดและต่ำสุด (boom-bust cycles) หรือเป็นเส้นแบ่งของภาวะแข็งแกร่งและภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ ที่ระดับ 50 จุด เป็นเวลาต่อเนื่องกันมา 23 เดือน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของทางการจีนในการชะลอราคาสินค้าลงนั้น ทำให้ดัชนี PMI อ่อนตัวลง และแนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังไม่มีความชัดเจน
จาง หลี่กุน นักวิจัยของศูนย์การวิจัยพัฒนาของคณะรัฐมนตรีจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิชาการชั้นนำของรัฐบาลจีน กล่าวว่า ดัชนี PMI เดือนม.ค.ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะผันผวนและดัชนีก็อาจจะอ่อนตัวลงอีกในอนาคตอันใกล้
ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนในเดือนธ.ค.นั้น ร่วงลงไป 1.3% แตะ 53.9% จากระดับเดือนพ.ย.
ดัชนีย่อยของดัชนี PMI ภาคการผลิตเมื่อเดือนม.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพการผลิต, ยอดส่งออกใหม่ๆ, สต็อกสินค้า และการจ้างงานนั้น ร่วงลงกว่า 2% จากสถิติเดือนธ.ค. แต่ดัชนีราคาซื้อวัตถุดิบกลับสูงขึ้น
นายจางกล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า บริษัทในภาคการผลิตของจีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันและความยากลำบากมากขึ้นในเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้นและคำสั่งซื้อที่หดตัวลง
เหอ หยี่ฟาง นักวิจัยอาวุโสซึ่งคิดตามความเคลื่อนไหวของดัชนี PMI กับหงหยวน ซิเคียวริตีส์ กล่าวว่า ดัชนี PMI เดือนม.ค.เป็นสัญญาณที่ดีที่ว่า เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญนั้น ดีดตัวขึ้น 4.6% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนธ.ค. แต่ดัชนี CPI ตลอดปี 2553 ดีดตัวขึ้น 3.3% ในปี 2553 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายทางการของรัฐบาลที่ 3%
แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ธนาคารกลางจีนใช้มาตรการคุมเข้มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการขึ้นเพดานสำรองธนาคารอีก 0.50% เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา
รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในเมืองที่ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นมาก โดยมาตรการที่มีการนำมาใช้นั้นมีทั้งการควบคุมการซื้อบ้าน และการกำหนดให้มีการจ่ายเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับการซื้อบ้านหลังที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 60% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์
ไค่ จิน รองประธาน CFLP กล่าวว่า ดัชนี PMI เดือนม.ค.อ่อนตัวลงอย่างมาก แต่ดัชนีที่อ่อนตัวลงนี้ก็มีผลในด้านบวกด้วย เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ระดับ 10.3% เมื่อปีที่แล้วนั้น สูงเกินไปเล็กน้อย และดัชนี PMI เดือนม.ค.ที่ร่วงลงนั้นเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมในระดับมหภาคของทางรัฐบาล ซึ่งทางรัฐบาลได้ตั้งความหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยควบคุมเงินเฟ้อ
ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่ทางเอชเอสบีซีได้ดำเนินการสำรวจและมีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ม.ค.นั้น ขยายตัวที่ระดับ 54.5 จุด เมื่อเดือนม.ค. จากระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่ 54.4 จุดในเดือนธ.ค.
ผลการสำรวจของเอชเอสบีซีครอบคลุมถึงการสำรวจบริษัทต่างๆจำนวน 400 บริษัท ขณะที่ดัชนี PMI ของ CFLP นั้น รวบรวมข้อมูลจากบริษัทต่างๆจำนวน 820 บริษัทในภาคการผลิตของจีน
หลิว ไทจุน นักวิเคราะห์ของไห่ตง ซิเคียวริตีส์ กล่าวถึงสาเหตุที่ดัชนี PMI ของ CFLP ลดลงว่า เป็นผลมาจากมาตรการคุมเข้มของทางรัฐบาลและผลกระทบตามฤดูกาลเนื่องในเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 50 จุด บ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดนั้น บ่งชี้ถึงการหดตัวของเศรษฐกิจ สำนักข่าวซินหัวรายงาน