ก.เกษตรฯชูนครพนมเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ-ศูนย์กลางยางอีสานและอินโดจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 8, 2011 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางด้านการผลิตข้าวและยางพารา โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 1.3 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 500,000 กว่าไร่ และเป็นข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดี โดยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศมาแล้วถึง 4 ปี คือ ปี 2540, 2541, 2542 และ 2551 และล่าสุดยังได้รางวัลที่ 3 ระดับประเทศอีกเมื่อปี 2552 ซึ่งจะเห็นได้ว่าจังหวัดนครพนมมีศักยภาพและมีโอกาสมาก ในการเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีแห่งหนึ่งของประเทศ

พืชอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ ยางพารา นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาแรงและหาสินค้าเกษตรชนิดใดมาเทียบเคียงได้ในแง่ของการให้ผลตอบแทน โดยมีการส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก สร้างรายได้ปีละกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งจังหวัดนครพนมยังเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการปลูกยางพารา ทั้งสภาพดินและน้ำฝน ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 180,000 ไร่

ดังนั้น ในอีกไม่เกิน 5 ปี พื้นที่ปลูกยางเหล่านี้จะสามารถเปิดกรีดได้ทั้งหมด และจะสามารถให้ผลผลิตได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 45,000 ตันต่อปี ทั้งนี้หากราคายางกิโลกรัมละ 100 บาท จะมีรายได้เข้าจังหวัดนครพนมไม่น้อยกว่าปีละ 4,500 ล้านบาท

ขณะนี้สถานการณ์ราคายางพาราได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการแก้ไขปัญหายางพาราอย่างเป็นระบบ ซึ่งในฐานะที่ตนเป็นรองประธานคณะกรรมการนโยบายยางพาราแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การประสานความร่วมมือและการทำข้อตกลงร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซียในการสร้างเสถียรภาพราคายาง การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราปี 2553 — 2556 โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจกระบวนการผลิตยางแก่เกษตรกร ผู้ปลูกยาง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และพัฒนาการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 250 ก.ก./ไร่/ปี เป็น 300 ก.ก./ไร่/ ปี

การส่งเสริมโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2554 - 2556 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่เคยมีสวนยางมาก่อน ได้ปลูกยางพาราเพื่อเพิ่มรายได้แล้ว โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 800,000 ไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 150,000 ไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ