ก.เกษตรห่วงชาวสวนเร่งเปิดกรีดยางหวังได้ราคาสูงกระทบปริมาณผลผลิต-ต้นยางอายุสั้นลง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 9, 2011 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการประเมินสาเหตุและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์การผลิตและราคายางพาราที่สูงขึ้นในปัจจุบัน พบว่าปัจจัยที่ส่งผลทำให้ราคายางพาราสูงขึ้น มีสาเหตุสำคัญจากผลผลิตตึงตัวเนื่องจากแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญทางภาคใต้ประสบปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัย

ขณะเดียวกัน ประเทศผู้ใช้ยางพารายังมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินเดียและจีน รวมถึงมีการเก็งราคาเพื่อทำกำไรในตลาดล่วงหน้าของนักลงทุน ประกอบกับ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับสถานการณ์ด้านราคา พบว่า ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสิงคโปร์ ตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตเกียว และราคาส่งออกเอฟ.โอ.บี. ของไทย มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.24 , 5.98 และ 5.33 ต่อปี ตามลำดับ ราคายางแท่งในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสิงคโปร์มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.76 ต่อปี ขณะที่ราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ที่เกษตรกรขายได้ มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.38 ต่อปี

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ราคายางพาราที่สูงขึ้นจะส่งผลทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ได้รับประโยชน์และมีรายได้ที่สูงขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางพารายังมีความต้องการใช้สูง แต่จากราคาที่สูงขึ้นขณะนี้ทำให้เกษตรกรอาจเร่งเปิดกรีดยางขณะที่ลำต้นยังไม่ได้ขนาดที่เหมาะสม ซึ่งพื้นที่ปลูกยางพาราที่ยังไม่เปิดกรีดยางมีทั้งหมดประมาณ 6.32 ล้านไร่ หรือประมาณ 4.2 แสนครัวเรือนที่จะส่งผลกระทบทำให้ได้ผลผลิตยางลดลงและยางมีอายุสั้นลง

รวมถึงในบางพื้นที่เสียโอกาสจากการเพิ่มขึ้นของราคา เช่น พื้นที่ภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมผลิตยางแบบจุ่ม ได้แก่ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบมากกว่า 98%

ด้านการส่งออก จะส่งผลให้จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยสนับสนุนการปลูกยางในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบให้กับจีน คาดว่าในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอาจลดลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางแบบจุ่มจะเปลี่ยนมาใช้ยางสังเคราะห์ในการผลิตแทนการใช้ยางพารา ส่วนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่น อาจปรับเปลี่ยนสัดส่วนให้มีการใช้ยางพาราลดลง เนื่องจากปัจจุบันราคายางสังเคราะห์ต่ำกว่าราคายางพารา

อย่างไรก็ตาม ปี 54 จะมีการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ มาประเทศไทย ทำให้คาดได้ว่าในอนาคตความต้องการใช้ยางพาราในประเทศจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 12 ของผลผลิต ทดแทนการส่งออกที่ลดลงได้ระดับหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ