นายนิกร จำนง ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืดว่า จะเสนอความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ ให้มีการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ในการให้คำนิยามของคำว่า "พื้นที่น้ำจืด” ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเคยใช้ประกาศกำหนดเขตพื้นที่ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดเมื่อปี 2541 โดยให้เหมาะสมกับสภาพของดินและสภาพพื้นที่ในปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยประกาศไว้ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้มีพิจารณาทางวิชาการร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ชัดเจนอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน
นอกจากนี้ จะเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานวิชาการในระดับจังหวัด เพื่อกำหนดพื้นที่น้ำจืดในแต่ละจังหวัดใหม่ ให้มีความเหมาะสมตามสภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อใช้สำหรับการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด ในการออกคำสั่งระงับการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2553 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
และกำหนดให้มีหน่วยงานกลางซึ่งในที่ประชุมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับผิดชอบดำเนินการ ทำโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด โดยพิจารณาคัดเลือกฟาร์มที่ได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงอยู่แล้วจากทั่วประเทศจำนวนหนึ่งที่มีความหลากหลายด้านสภาพพื้นที่ และการเพาะเลี้ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีการขอยกเว้นฟาร์มที่ใช้ในการศึกษาดังกล่าวไประยะหนึ่ง แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี
ทั้งนี้กรมประมงได้จัดเตรียมงบประมาณดำเนินการโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด และจัดเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบ และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืดโดยใช้งบประมาณดำเนินการเป็นเงินทั้งสิ้น 12.6 ล้านบาท ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปผลการศึกษาและมาตรการต่างๆ แล้วกระทรวงเกษตรฯจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งต่อไป
อนึ่ง คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ได้มีพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และจัดเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมติครม.ดังกล่าว ซึ่งสรุปเบื้องต้นเฉพาะจาก 55 จังหวัด ที่ใช้กำหนดเขตพื้นที่ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่เพาะเลี้ยงน้ำจืดเมื่อปี 2541 พบว่า มีผลกระทบต่อพื้นที่เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม คิดเป็นพื้นที่ 85,611 ไร่ เกษตรกรจำนวน 6,851 ราย และบ่อเพาะฟักจำนวน 252 ราย ซึ่งเป็นบ่อเพาะฟักกุ้งก้ามกราม 70 ราย และบ่อเพาะฟักกุ้งขาวแวนนาไมจำนวน 182 ราย คิดเป็นพื้นที่เพาะฟักประมาณ31,500 ตารางเมตร สำหรับผลกระทบทางด้านผลผลิตนั้นมีประมาณ 150,000 ตัน/ปี หรือเป็นสัดส่วนประมาณ 30 % ของผลผลิตกุ้งทั้งหมดที่มีอยู่รวม 550,000 ตัน/ปีในปัจจุบัน และเมื่อคิดเป็นผลกระทบด้านมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท/ปี