สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เตือนดีเดย์ 11 ส.ค.54 ทยอยลดคุ้มครองไม่เกิน 50 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 10, 2011 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ วันที่ 11 ส.ค.54 สคฝ.จะเริ่มการคุ้มครองเงินฝากผู้ฝากเงินทุกบัญชีภายใต้กฎหมาย โดยจะเริ่มคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท และในวันที่ 11 ส.ค.55 จะลดวงเงินคุ้มคาองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้

ดังนั้น ระหว่างวันที่ 11 ส.ค.54-10 ส.ค.55 หากมีกรณีสถาบันการเงินล้ม สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายคืนให้ผู้ฝากไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจาก 50 ล้านบาทผู้ฝากขอรับคืนได้จากกระบวนการชำระบัญชีของสถาบันการเงินต่อไป

ทั้งนี้ เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ เดือน ก.ย.53 มีจำนวนทั้งสิ้น 58.96 ล้านรายหรือคิดเป็นเงินจำนวน 6.87 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีจำนวนผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทอยู่ประมาณ 98.5% และผู้ฝากเงินจำนวนที่เกิน 1 ล้านบาทอยู่ประมาณ 1.5%

นายสิงหะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สถาบันการเงินมีฐานะมั่นคงภายใต้การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพสูง ประกอบด้วยผู้ที่มีเงินฝากเกิน 50 ล้านบาทมีอยู่จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ฝากเงินทั้งระบบ และผู้ฝากเงินเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุน สามารถดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี จึงเชื่อมั่นว่าการลดวงเงินคุ้มครองที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ส.ค.54 จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อระบบการเงิน

และจากนั้นต่อไปอีกหนึ่งปี คือ 11 ส.ค.55 เป็นต้นไป แม้ว่าวงเงินคุ้มครองจะลดลงเหลือ 1 ล้านบาท แต่การคุ้มครองดังกล่าวก็ยังครอบคลุมผู้ฝากเงินถึง 98.5% เชื่อว่าผู้ที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท หรือในส่วน 1.5% จะค่อยๆ พิจารณาปรับตัวโดยไม่ตื่นตระหนก ทั้งนี้ การฝากเงินยังคงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากผู้ฝากเงินจะได้รับผลกระทบก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินล้ม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

อย่างไรก็ตาม หากมีกรณีสถาบันการเงินถูกสั่งให้ปิดกิจการหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากเงินสามารถมายื่นคำขอ พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อขอรับเงินฝากคืนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากประกาศกำหนดให้มายื่นขอรับเงิน หลังจากนั้นผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันยื่นคำขอรับเงิน

สำหรับประเภทเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงินที่เป็นเงินบาท ยกเว้นเงินฝากใน“บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ" ซึ่งเป็นประเภทบัญชีพิเศษที่เปิดเพื่อทำรายการเฉพาะตาม พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง และเงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ