(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค.54 อยู่ที่ 72.6

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 10, 2011 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ม.ค.54 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 72.6 เพิ่มขึ้นจาก 71.9 ในเดือน ธ.ค.53

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 72.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 99.2

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แม้ปลายเดือน ม.ค.จะมีข่าวในเชิงลบมากขึ้น ทั้งปัญหาการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ และปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา แต่เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามั่นใจว่าเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ในอนาคตที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ ตลอดจนรายได้ภาคการเกษตรที่สูงขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดี

สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนมั่นใจว่ารายได้ในอนาคตจะไม่ลดลง และส่งผลให้มีความมั่นใจในการบริโภคและจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยดูได้จากตัวเลขการซื้อสินค้าคงทน รถยนต์และการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยมองว่าการบริโภคในประเทศปีนี้จะขยายตัวได้ราว 3.5-4% และจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปีนี้ให้เติบโตอยู่ในระดับ 4-5% ได้

"ยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ มองว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังเป็นขาขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคในประเทศปีนี้จะโต 3.5-4% ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการค้ำยันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้โต 4-5%ได้"นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ ได้แก่ ราคาผลลผิตด้านการเกษตรทรงตัวในระดับสูง, มาตรการประชาวิวัฒน์ส่งผลเชิงบวกต่อประชาชน, นโยบายตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทส่งผลจิตวิทยาเชิงบวกเช่นเดียวกันในการลดความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและค่าครองชีพ, กระทรวงการคลังคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ 4.5% จากการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการชุมนุมในประเทศ รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, ความกังวลต่อความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และปัญหาการเมืองในอียิปต์

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังคาดการณ์ว่า การบริโภคของประชาชนอาจจะมีความระมัดระวังต่อการจับจ่ายใช้สอยอยู่บ้าง เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นในทุกรายการในปัจจุบันยังมีค่าต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 แต่เชื่อว่าผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาบริโภคมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เป็นต้นไป หากไม่มีปัจจัยลบเข้ามาบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

โดยมองว่า ปัจจัยลบที่ยังต้องจับตามอง ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อการบริโภคของประชาชน เช่น ภาวะราคาน้ำมันแพง การชุมนุมทางการเมืองในประเทศ และสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

ทางด้านนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ปัญหาสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาต้องยืดเยื้อ โดยควรต้องทำให้ปัญหายุติและสงบโดยเร็ว เนื่องจากมองว่าอีกประมาณ 3 ปีชาติอาเซียนจะต้องรวมตัวกันเป็นหนึ่ง ภายใต้การเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ดังนั้นแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะต้องรวมพลังกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งหากมีอุปสรรคใดๆที่มาขัดขวางการร่วมกลุ่ม AEC ก็ควรจะต้องหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ นายดุสิตได้เรียกร้องให้มีการเจรจาในระดับผู้นำของ 2 ประเทศระหว่างไทย-กัมพูชา และมองว่าไม่ควรคำนึงถึงเรื่องตัวเลขความเสียหาย จนนำมาบั่นทอนความสัมพันธ์มากกว่า

"อยากให้มีขีดเส้นจำกัดวงว่าปัญหาจะยุติได้เมื่อไหร่ เพราะจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระดับอาเซียนมากกว่า" นายดุสิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ