ธปท.เชื่อสถานะแบงก์พร้อมปล่อยสินเชื่อรองรับศก.โตจากปีก่อนสินเชื่อโต 11.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 10, 2011 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถาบันการเงินไทยมีความพร้อมสำหรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากขณะนี้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS อยู่ในระดับสูงถึง 16.2%

"ปีนี้แบงก์ชาติไม่ห่วงสถาบันการเงิน แต่ผู้กำกับดูแลไม่เคยไม่มองใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจไทยขึ้นกับเศรษฐกิจโลก 2-3 ปีที่ผ่านมาพอมีปัญหาก็มีผลกระทบมาถึง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมาที่การค้าขาย แต่ก็ยังต้องติดตามต่อไป"นางสาวนวพร กล่าว

ส่วนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนผันผวน ธนาคารพาณิชย์ต้องดูแลความเสี่ยงของตัวเองและช่วยดูแลลูกค้าด้วย โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งธปท.มองว่าเครื่องมือบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญในปีนี้

ธปท.เปิดเผยในวันนี้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมมีเสถียรภาพ ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินเชื่อและเงินฝากที่หดตัวในปี 52 กลับมาขยายตัวในปี 53 ทั้งในส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเงินฝากทำให้ สภาพคล่องตึงตัวขึ้น สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ลดลง ระบบธนาคารพาณิชย์มีผลกำไรเพิ่มขึ้นและมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 53 ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากปีก่อน เทียบกับที่หดตัว ร้อยละ 1.8 ณ สิ้นปี 2552 สินเชื่อภาคธุรกิจ (ร้อยละ 71.3 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 9.0 ตามความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจระหว่างประเทศ โดยสินเชื่อ SME (ร้อยละ 52.0 ของสินเชื่อธุรกิจ) ขยายตัวร้อยละ 7.4

สินเชื่อขยายตัวในเกือบทุกภาคธุรกิจ ยกเว้นสินเชื่อแก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างที่หดตัวเล็กน้อย แต่ดีขึ้นจากที่หดตัวมากในปี 2552 สำหรับสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 28.7 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวต่อเนื่องตามการใช้จ่ายภาคเอกชน โดย ณ สิ้นปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 17.7 จากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ เป็นสำคัญ

ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPL) มียอดคงค้าง 312.6 พันล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนถึง 63.5 พันล้านบาท จากการรับชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการขายหนี้เป็นสำคัญ ทำให้สัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงทั้ง Gross NPL และ Net NPL เหลือร้อยละ 3.6 และร้อยละ 1.9 ตามลำดับ โดยสัดส่วน NPL ของสินเชื่อภาคธุรกิจลดลงเหลือร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นการลดลงในเกือบทุก ภาคธุรกิจทั้งในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่และ SME ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีสัดส่วน NPL ลดลงเหลือร้อยละ 2.3 โดยลดลงในสินเชื่อทุกประเภท ส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent loan) ก็ลดลงเช่นกัน โดยสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 2.6

ส่วนการระดมเงินผ่านเงินฝากและ B/E ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากปีก่อน แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นน้อยกว่าสินเชื่อ ส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นบ้าง โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวม B/E เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 88.3

ในปี 53 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิจำนวน 123.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.5 จากปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลงจากคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset — ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.1

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin — NIM) ลดลงจากปี 52 เล็กน้อยเหลือร้อยละ 2.8 ผลกำไรที่มีอย่างต่อเนื่องประกอบกับการเพิ่มทุนทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนสูงขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 ratio) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 16.2 และร้อยละ 12.5 ตามลำดับ

ธปท.ระบุว่า ยังคงมีปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีนัยต่อเศรษฐกิจไทยตลอดจนความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากของสถาบันประกันเงินฝาก ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงทั้งด้านเครดิต ด้านตลาด และด้านสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ