นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า วันนี้คณะทำงานของกระทรวงการคลังเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้ตั้งข้อสังเกตหลายประเด็นในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดว่ากฤษฎีกาจะใช้เวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วเสร็จและนำกลับไปเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งภายใน 2 เดือน จากนั้นจะบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสมัยปัจจุบัน
"คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น ซึ่งหลายเรื่องมีความเห็นตรงกัน...มั่นใจว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ระบบจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรม ส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรให้มีค่าแก่แผ่นดิน มีการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ คลายการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน"นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวว่า มั่นใจว่าหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ทั้งภาษีการโอน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ และยืนยันว่าแม้ว่าอาจจะมีการยุบสภาก่อนที่ร่างกฎหมายจะผ่านการพิจารณาในขั้นตอนของสภาครบถ้วน แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะหยิบยกมาพิจารณาเป็นวาระแรก ๆ โดยเร็ว
ประเด็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งข้อสังเกต ได้แก่ หน่วยงานจัดเก็บและประเมินภาษี ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันว่าภาระการประเมินภาษีโดยทั่วไปเป็นหน้าที่ที่กระทรวงการคลังจะส่งข้อมูลให้ท้องถิ่น ขณะที่ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการออกใบประเมินและจัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด
ส่วนกรณีที่มีความหลากหลายของรูปแบบการจัดเก็บภาษีตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งเพื่อการพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย และการเกษตร จะมีการกำหนดลักษณะการใช้พื้นที่ เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถแยกพื้นที่ในการจัดเก็บภาษีได้ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งหลักการการจัดเก็บภาษีจะมีการยกเว้นภาษีสำหรับผู้ที่มีที่ดิน 50 ตารางวาแรก และจะมีการประเมินอัตราภาษีในส่วนที่เกินจากนั้น และยกเว้นภาษีกรณีที่ประเมินมูลค่าที่ดินไม่เกิน 1 ล้านบาท
นายกรณ์ มองว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สอดคล้องกับข้อเสนอในแถลงการณ์ของคณะกรรมการว่าด้วยแนวทางปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพราะการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรถือเป็นจุดยืนของรัฐบาลอยู่แล้ว
ทั้งนี้ จากข้อเสนอ การจำกัดเพดานถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรและให้เกิดความโปร่งใสในกรรสิทธิการเป็นเจ้าของนั้น ในร่างกฎหมายมีความโปร่งใสอยู่แล้ว ส่วนการคุ้มครองพื้นที่ทำการเกษตร ในร่างกฎหมายมีความสอดคล้องกับพื้นที่การจัดโซนนิ่งที่ดินเพื่อทำการเกษตร ขณะที่การจัดตั้งธนาคารที่ดิน และ การจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า ก็สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายที่กำหนดไว้