นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.54) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยขณะนี้กำลังพิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลต่อค่าเอฟที
นอกจากนี้ ประเทศไทยจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)1 ล้านตันโดยในช่วงกลางปีนี้จะเริ่มมีการทดสอบระบบและคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4/54 ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นตาม เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาก๊าซในประเทศ
ขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างการจัดรับฟังความคิดเห็นเรื่องหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราค่าบริการการเก็บรักษาและการแปรสภาพก๊าซจากของเหลวเป็นก๊าซ โดยจะพิจารณาถึงวิธีการกำหนดผลตอบแทนการลุงทุนที่เหมาะสมและให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยคาดว่าจะสามารถประกาศให้มีผลบังคับใช้ได้ประมาณเดือนเม.ย.นี้
ด้านนายวิชัย พรกีรติวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.(PTT)กล่าวว่า ปตท.จะเริ่มการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในช่วงประมาณกลางปี 54 และเป็นผู้ลงทุนเพียงรายเดียว โดยคาดว่าการดำเนินธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจีภายใน 7 ปีก็ยังจะเป็นธุรกิจที่ไม่มีผลกำไร เนื่องจาก ปตท.มีภาระลงทุนสร้างคลังเก็บรักษาและวางระบบรับ-ส่งก๊าซแอลเอ็นจี มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท โดยคลังเก็บรักษาดังกล่าวสามารถรองรับปริมาณก๊าซแอลเอ็นจีได้ 5 ล้านตัน
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี ช่วงปี 53-73 (พีดีพี2010) มีการคาดการณ์ความต้องการก๊าซแอลเอ็นจีในช่วง 10 ปีแรกของแผนไว้ที่ 1 ล้านตันต่อปี ดังนั้น ขณะนี้ ปตท.จึงได้มีการศึกษาแนวทางการบริหารและการหารายได้เพิ่มจากพื้นที่คลังเก็บรักษา โดยได้ศึกษาการจัดตั้งศูนย์กลางในการนำเข้า-ส่งออกก๊าซแอลเอ็นจี(ฮับ)ในภูมิภาคอาเซียนขึ้นในประเทศไทย โดยสาเหตุหนึ่งมาจากความต้องการใช้ก๊าซแอลเอ็นจีของไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อนและปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ในช่วงดังกล่าว ขณะที่ประเทศและภูมิภาคอื่นมีความต้องการการใช้ก๊าซแอลเอ็นจีอยู่ในช่วงฤดูหนาว จึงอาตมีความเป็นไปได้ที่จะมีจังหวะการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นต่อไป
นายวิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท. ได้เชิญชวนให้ผู้ที่มีศักยภาพในการส่งออกก๊าซแอลเอ็นจีจำนวนหนึ่งเข้าร่วมเสนอราคาขายก๊าซแอลเอ็นจี โดยคาดว่าในช่วงทดสอบระบบรับ — ส่ง และคลังเก็บรักษา จะมีปริมาณรับซื้อก๊าซแอลเอ็นจีประมาณ 2 แสนตัน
นางพัลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ปริมาณการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีตามแผนพีดีพี 2010 ที่จะมีการนำเข้ามาจำนวน 1 ล้านตันนั้นจะมีปริมาณเท่ากับก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) จำนวน 140 ลูกบาศก์ฟุต หรือเท่ากับ 4% ของความต้องการใช้ก๊าซทั้งประเทศ
“หากคำนวณจากราคาก๊าซแอลเอ็นจีที่ราคา 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูและราคาก๊าซเฉลี่ยในประเทศที่ 251 บาทต่อล้านบีทียู คาดว่าจะทำให้ราคาก๊าซรวมเพิ่มขึ้นอีก 4 บาทต่อล้านบีทียู หรือจะมีผลต่อค่าไฟฟ้า ประมาณ 2 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซเฉลี่ยของไทยในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 260-280 บาทต่อล้านบีทียู"นางพัลภา กล่าว