ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ ระบุถึงกรณีที่เวียดนามประกาศลดค่าเงินดองอีก 8.5% หลังจากปรับลดค่าเงินมาหลายครั้งก่อนหน้านี้ โดยเป็นการลดค่าเงินที่แรงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดองในตลาดอ่อนค่าลงราว 7% ว่า ต่การปรับลดค่าเงินดองน่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเวียดนามมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าไทยมาก จึงทำให้ไม่ได้เปรียบไทยมากนัก
ด้านการส่งออก โดยรวมไม่ได้แข่งกับเวียดนามมากนัก เนื่องจากโครงสร้างของไทยต่างจากเวียดนามทั้งทางด้านประเภทของสินค้าและตลาดส่งออก แต่บางกลุ่มสินค้าส่งออกอาจแข่งขันลำบากขึ้น แม้ในภาพรวมสัดส่วนสินค้าส่งออกหลักๆ ของเวียดนามจะแตกต่างจากไทยอยู่พอสมควร ในขณะที่โครงสร้างตลาดส่งออกก็ต่างกัน โดยตลาดส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย (3 ไตรมาสแรกปี 2010) ได้แก่ อาเซียน (23%) และจีน (17%) ในขณะที่ตลาดหลักของเวียดนามได้แก่ สหรัฐฯ (20%) และยุโรป (16%)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินค้าที่ทับซ้อนกันและเป็นสินค้าส่งออกหลักของเวียดนามอย่าง อาหารและเกษตร (24% ของมูลค่าส่งออกเวียดนาม) ซึ่งหลักๆ ก็เช่นอาหารทะเลและข้าว หรือ สินค้าพวกสิ่งทอ (19% ของมูลค่าส่งออกเวียดนาม) ก็จะต้องพบกับการแข่งขันที่ลำบากขึ้น ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นกับคุณภาพของสินค้าด้วย อย่างข้าวหอมมะลิเกรดสูงของไทยอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าข้าวเกรดที่ต่ำลงมาที่จะต้องสู้กับข้าวของเวียดนามโดยตรง
"ผลกระทบโดยตรงต่อตัวเลขเศรษฐกิจไทยอาจไม่มากนัก แต่อาจมีผลต่อแรงงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า อย่างเช่นภาคเกษตรกรรมคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ใน GDP ของไทย แต่มีสัดส่วนในการจ้างงานสูงถึงราว 40% ของตลาดแรงงาน" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ