กรอ.คงมติเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล 5 บ./กก. ชี้ลดจัดเก็บไม่ส่งผลราคาสินค้าถูกลง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 14, 2011 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธราดล เปี่ยมพงษ์ศานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) มีมติให้คงอัตราการนำเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลไว้ที่ 5 บาท/กิโลกรัม โดยมีระยะเวลาสิ้นสุดการชำระหนี้ยในเดือนต.ค. 54 (กรณีหนี้เงินกู้จำนวน 6,930 ล้านบาท) หรือระยะเวลาสิ้นสุดการชำระหนี้ภายในเดือนพ.ย. 54 (กรณีหนี้เงินกู้จำนวน 7,770 ล้านบาท)

ก่อนหน้านี้ มีการเสนอ 2 แนวทาง ได้แก่ การคงอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไว้ที่ 5 บาท/กก. และอีกแนวทาง คือ การปรับลดอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเหลือ 4 บาท/กก.

โดยคณะกรรมการ กรอ. ได้แสดงความเห็นว่า เนื่องจากราคาภายในประเทศของไทยยังต่ำกว่าราคาต่างประเทศ ดังนั้น ผู้บริโภคของไทยยังบริโภคน้ำตาลในราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆอยู่แล้ว

ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์สามารถปรับลดอัตราการนำเข้าจาก 5 บาท เป็น 4 บาท/กิโลกรัมได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อของประเทศด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบสำคัญสามารถใช้น้ำตาลโควตา ค. ในการผลิตได้ และควรมีการประเมินผลกระทบจากการปรับลดอัตราการนำเข้ากองทุนในอนาคตต่อผู้บริโภคเมื่อการชำระหนี้กองทุนสิ้นสุด

สำหรับแนวทางและการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบในระยะยาวนั้น ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปดำเนินการ โดยให้ดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จพร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้ทันต่อการทดลองใช้ก่อนการเปิดหีบอ้อยสำหรับฤดูกาลผลิตปี 2554-2555

ด้านนายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นว่าควรจะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องของกองทุนฯ โดยควรจ่ายหนี้ที่ค้างชำระหนี้อยู่ประมาณ 7 พันล้านบาทจนถึงสิ้นปีให้หมดก่อน

นอกจากนี้มองว่า การลดการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค เพราะเมื่อมีการสอบถามในที่ประชุมว่าหากมีการลดการเก็บเงินจะทำให้ราคาสินค้าหรือราคาน้ำตาลลดลงได้หรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน จึงเห็นว่าไม่ควรมีการลดการจัดเก็บในขณะนี้

อีกทั้งนายกฯ ยังเห็นว่า กองทุนฯ ยังมีประโยชน์ เพราะยังมีส่วนช่วยในการลดภาระค่าใช้จ่ายในภาคการผลิต และยังมีประโยชน์หากเกิดวิกฤตในเรื่องราคาน้ำตาลขึ้นมาอีก

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมตัวแทนของสภาอุตสาหกรรม ได้เสนอให้น้ำตาลออกจากสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า คงไม่สามารถทำได้ เพราะจะไม่มีตัวชี้วัดว่าถ้าราคาน้ำตาลขึ้นแล้วราคาสินค้าควรจะอยู่ระดับใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ