นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เผยรัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายติดต่อกันทุกเดือนนับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 54 โดยในเดือนม.ค.54 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 125,751 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 20,467 ล้านบาท หรือ19.4% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 9.9%)
ทั้งนี้เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในอนาคต และงาน Motor Expo ในเดือนธ.ค.53 ที่ส่งผลต่อเนื่องมาทำให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์สูงกว่าที่ประมาณการไว้มาก โดยรายได้ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์
สำหรับช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 (ต.ค.53 - ม.ค.54) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 521,228 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 64,247 ล้านบาท หรือ 14.1%(สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 12.5%) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต, กรมศุลกากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการ
โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 357,076 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 36,596 ล้านบาท หรือ 11.4% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 14.7%) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีธุรกิจเฉพาะที่สูงกว่าประมาณการ 17,933 10,352 4,885 และ 3,689 ล้านบาท หรือ 25.1% 6.1% 7.3% และ 48.9% ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 8.2% และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4.5%
กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 149,571 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 17,365 ล้านบาท หรือ 13.1% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10.9%) สาเหตุสำคัญจากการบริโภคภายในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ประกอบการคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุรา ยาสูบ และเบียร์ ส่งผลให้จัดเก็บภาษีรถยนต์ ภาษีสุรา ภาษียาสูบ และภาษีเบียร์ สูงกว่าประมาณการ 8,335 3,040 1,938 และ 1,931 ล้านบาท หรือ 37.0% 21.2% 10.5% และ 9.8% ตามลำดับ
กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 33,522 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,082 ล้านบาท หรือ 10.1% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว3.6%) เนื่องจากจัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงกว่าประมาณการ 2,970 ล้านบาท หรือ 10.0% สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายตัวของมูลค่านำเข้าโดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์
รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 33,809 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,325 ล้านบาท หรือ 18.7% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และธนาคารออมสินนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิปี 2553 สูงกว่าประมาณการ 2,039 1,379 และ 500 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ CATจ่ายเงินปันผลต่ำกว่าประมาณการ 803 ล้านบาท
หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 33,528 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,669 ล้านบาท หรือ 12.3% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.0) เนื่องจากมีรายได้จากค่าใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จำนวน 2,378 ล้านบาท (ส่งเร็วกว่าที่คาดไว้ว่าจะส่งเดือนพ.ค.54) และมีรายได้จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวงการคลังจำนวน 2,998 ล้านบาท
การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 67,175 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 452ล้านบาท หรือ 0.7% โดยเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 58,105 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 895 ล้านบาท หรือ 1.5% และการคืนภาษีอื่นๆ 9,070 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,347 ล้านบาท หรือ 17.4%
การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ในปีงบประมาณ 54 นี้ การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท.จะแตกต่างจากที่ผ่านมา โดยจะแบ่งการจัดสรรออกเป็น 12 งวด จากเดิมที่จัดสรร 6 งวด โดยมีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 งวดแรกของปีงบประมาณ 54 ในเดือนม.ค. 54 รวม 11,266 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 886 ล้านบาท หรือ 8.5%
"จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลใน 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ที่สูงกว่าเป้าหมายมาก ประกอบกับทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2554 จะสูงกว่าเป้าหมาย 120,000 ล้านบาทแน่นอน" นายนริศ กล่าว