นายปุณณชัย ฟูตระกูล ผู้จัดการฝ่ายตลาดก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์(เอ็นจีวี) ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยปัจจุบันมียอดใช้อยู่ที่ 5,900 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 40% จากต้นปี 53 ซึ่งอยู่ที่ 4,200 ตัน/วัน เนื่องจากมีปริมาณรถยนต์ที่เปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือมียอดติดตั้งเฉลี่ยอยู่ที่ 250 คัน/วัน โดยขณะนี้มีรถยนต์เอ็นจีวีประมาณ 2.34 แสนคัน แบ่งเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่จำนวน 16% แต่มีปริมาณใช้เอ็นจีวีมากถึง 60% ของยอดใช้เอ็นจีวีทั้งหมด
ทั้งนี้ ปตท.มีแผนขยายสถานีบริการเพิ่มเติม ล่าสุดอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตสถานีแม่ขนาด 850 ตัน/วัน คือ สถานีแม่น้ำพอง จ.ขอนแก่น อีก 200 ตัน/วัน จากเดิมมีกำลังการผลิต 200 ตัน/วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้, ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร อีก 150 ตัน/วัน จากเดิม 40-50 ตัน/วัน คาดแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้, สถานีแม่แก่งคอย จ.สระบุรี อีก 250 ตัน/วัน คาดแล้วเสร็จเดือน ก.ค.นี้ และสถานีแม่เทพารักษ์ จ.สมุทปราการ เพิ่มอีก 250 ตัน/วัน
ส่วนการขยายสถานีบริการเอ็นจีวียังคงตั้งไว้ที่ 500 แห่งภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 433 แห่ง ซึ่ง ปตท.ยังติดปัญหาเรื่องการจ่ายก๊าซ เนื่องจากสถานีเอ็นจีวีส่วนใหญ่ หรือประมาณ 70% เป็นสถานีนอกแนวท่อ ทำให้ต้องใช้รถขนส่งก๊าซซึ่งอาจเกิดความล่าช้าบ้าง
สำหรับการปรับโครงสร้างราคาเอ็นจีวีคงต้องรอผลการศึกษาของกระทรวงพลังงาน โดย ปตท.แบกรับภาระจากการขายเอ็นจีวีขาดทุนสะสมแล้วประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท
ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของ รมว.พลังงาน แต่เดิมมติ ครม.กำหนดไว้ว่าจะสามารถทยอยปรับขึ้นราคาได้แต่จะต้องไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล แต่คาดว่าคงยังไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ในขณะนี้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้ตรึงราคาไว้ ความคืบหน้าโครงการแท็กซี่ติด เอ็นจีวี ฟรี 15,000 คันว่า หลังจากที่ได้เปิดรับสมัครเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการและรถแท็กซี่ที่ข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี จึงเชื่อมั่นว่าจะมีรถแท๊กซี่เข้าร่วมโครงการเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ในล็อตแรกจำนวน 15,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 30,000 คันในเร็ว ๆ นี้
สำหรับความคืบหน้าโครงการแท็กซี่ติดเอ็นจีวีฟรี 15,000 คันนั้น หลังจากเปิดรับสมัครเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการและรถแท็กซี่ที่มาเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี จึงเชื่อมั่นว่าจะมีรถแท๊กซี่เข้าร่วมโครงการเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ในล็อตแรกจำนวน 15,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 30,000 คันในเร็ว ๆ นี้
ส่วนการประมูลโครงการเปลี่ยนเชื้อเพลิงแท๊กซี่แอลพีจีเป็นเอ็นจีวีฟรีใน 15,000 คันแรก พบว่ามีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย และมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงทำให้วงเงินประมูลอุปกรณ์อยู่ที่ประมาณ 260 ล้านบาท จากราคากลาง 500 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าติดตั้งที่ 5,000 บาทต่อคันแล้ว วงเงินที่ใช้จะอยู่ที่ประมาณ 335 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับวงเงินที่กระทรวงพลังงานคาดว่าจะต้องใช้ 1,200 ล้านบาท สำหรับการเปลี่ยนแปลงแท็กซี่ทั้งหมด 30,000 คัน
โดยผู้ประมูลทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท สแกนอินเตอร์, บริษัท อิตัลไทยเทคโนโลยี จำกัด, บริษัท สยามราช จำกัด และบริษัท ออโต้แพลน จำกัด ซึ่งบริษัทออโต้แพลนเป็นผู้ชนะ โดยได้ราคาจำหน่ายถังและอุปกรณ์ส่วนควบ หรือ คอนเวอร์ชั่นคิต 16,000 บาท จากราคากลางที่ประมาณ 35,000 บาท โดยบริษัทนี้จะนำเข้าอุปกรณ์บางส่วนจกประเทศจีนและเกาหลี มาติดตั้งให้แท๊กซี่
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานเปิดให้ผู้ติดตั้งหรืออู่แท๊กซี่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการมาเป็นผู้ติดตั้งส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 28 ก.พ.นี้ โดยผู้ประกอบการแท็กซี่สามารถยื่นคำขอได้จนถึงวันที่ 15 มี.ค.ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพลังงาน
"หากเปลี่ยนแท็กซี่จากแอลพีจีมาเป็นเอ็นจีวีได้ทั้งหมด 15,000 คัน จะช่วยลดการใช้แอลพีจีได้ 15,000 ตันต่อเดือน และจะช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการชดเชยการนำเข้าแอลพีจีได้ 237 ล้านบาทต่อเดือน และหากดำเนินโครงการได้ทั้งหมด 30,000 คันก็จะได้ช่วยลดแอลพีจีได้ 30,000ตันต่อเดือน จะลดภาระกองทุนฯได้ 474 ล้านบาท" นายคุรุจิต กล่าว