นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 ครั้งที่ 1 ตามที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ
โดยการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวได้ปรับลดวงเงินลง 4,923.63 ล้านบาท จากเดิม 1,296,427.90 ล้านบาท เหลือ 1,291,504.27 ล้านบาท และทำให้วงเงินที่รัฐวิสาหกิจขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันจากเดิม 162,791.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,976.36 ล้านบาท เป็น 166,768.14 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินแผนการบริหารหนี้สาธารณะ และอนุมัติการกู้เงิน การค้ำประกัน และการให้กู้ต่อของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 ปรับปรุงครั้งที่ 1 รวมทั้งอนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจตามรายการที่ได้บรรจุไว้ในแผนการบริหารความเสี่ยง(แผนงานย่อยที่ 3) โดยในการกู้เงินเพื่อ Refinance ให้กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจสามารถปรับเปลี่ยนแหล่งเงินกู้จากเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินกู้สกุลเงินบาท (Baht Refinance) ได้
ตลอดจนอนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการค้ำประกัน การกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงินในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 ปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยหากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ
นายวัชระ กล่าวว่า นอกจากการปรับปรุงวงเงินในแผนข้างต้นแล้ว ยังมีการปรับปรุงแผนของรัฐวิสาหกิจที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้มีมติให้แยกกิจกรรมดังกล่าวออกมา โดยไม่ต้องขออนุมัติภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ แต่ยังคงต้องดำเนินการตามขั้นตอนการกู้เงินอื่น และรายงานให้คณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ได้แก่ บมจ.ทีโอที ขอปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่ยุคที่ 3 วงเงิน 15,850,000 ล้านบาท เนื่องจากมีความต้องการใช้เงินเพื่อเร่งดำเนินโครงการดังกล่าวให้เสร็จในช่วงปีงบประมาณ 2554 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 อนุมัติให้ บมจ. ทีโอที เปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานจากการประกวดราคาสากลเป็นการประกวดราคาทั่วไป ทำให้เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการจะเป็นเงินกู้จากในประเทศหรือต่างประเทศนั้นขึ้นอยู่กับผู้ที่ประมูลโครงการได้ ทั้งนี้กระทรวงการคลังมีความเห็นว่าควรเป็นการกู้เงินในรูปเงินกู้ระยะยาวเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการดำเนินโครงการ และกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกันเพราะเป็นโครงการที่มุ่งหวังผลตอบแทนเชิงพาณิชย์