ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้จะมีการพิจารณางบ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ฟื้นฟู ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบอันเนื่องมาจากการเกิดภัยพิบัติ รวมทั้งการดำเนินการสวัสดิการสังคมให้ทั่วถึง ซึ่งจะดำเนินการตามภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล และตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีการตั้งงบประมาณไม่เกิน 15,857.4 ล้านบาท เพื่อจัดสรรตามแผนงานฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติ 9,900 ล้านบาท, จัดสรรตามแผนงานสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4,940 ล้านบาท, จัดสรรตามแผนงานส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครอง 1,017.4 ล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จึงต้องจัดตั้งงบประมาณร่ายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 84,142.6 ล้านบาท
โครงสร้างบประมาณร่างจ่ายเพิ่มเติมฯ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.93 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายเพื่อการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติ 9,900 ล้านบาท ,งบประมาณอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดสรรเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพผู้พิการหรือทุพพลภาพ 5,957.4 ล้านบาท และงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 84,142.6 ล้านบาท
หากจำแนกตามกระทรวง จะเป็นดังนี้ กระทรวงมหาดไทย 8,726.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.73, กระทรวงคมนาคม 2,900 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.9 ล้านบาท, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,697.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.7 (ของงบประมาณทั้งหมด), กระทรวงศึกษาธิการ 1,322.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.32, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 989.2ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.99 ส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง 162 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.16 รัฐวิสาหกิจ 60 ล้าบาท คิดเป็นร้อยละ 0.06 และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 84,142.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84.14
ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณได้กำหนดยุทธศาสตร์เป็นกรอบภายใต้นโยบายของรัฐบาล แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2552-2554 ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ฟื้นและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ 9,900 ล้านบาท เป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของปราชนผู้ประสบภัยพิบัติ สนับสนุนโครงการฟื้นฟูบูรณะ ปรับปรุง สาธารณประโยชน์ เร่งรัดการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบด้านต่างๆ อันเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติ ,
ยุทธศาสตร์ การพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 4,940 ล้านบาท เป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้สูงอายุให้ได้รับเบี้ยยังชีพรายเดือน
และ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี 1,017.4 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างสวัสดิการททางสังคมในการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 84,142.6 ล้านบาท เพื่อชดใช้เงินคงคลัง
สำหรับรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.13 มาตรา โดยมาตรา 4 — มาตรา 11 กำหนดรายละเอียดการจัดทำงบประมาณ โดยมาตรา 4 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,697.3 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณของกรมชลประทาน เพื่อดำเนินแผนงานฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติ 1,697.3 ล้านบาท
มาตรา 5 กระทรวงคมนาคม 2,900 ล้านบาท จำแนกเป็นงบประมาณกรมทางหลวง ทำแผนงานฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติ 1,800 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 1,100 ล้านบาท, มาตรา 6 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 989.2ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำตามแผนงานฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติ
มาตรา 7 กระทรวงมหาดไทย 8,726.7 ล้านบาท จำแนกเป็นงบประมาณของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2,769.2 ล้านบาท ,กระมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 5,957.4 ล้านบาท และแผนงานส่งเสริมการกระจายอำนาจ กรมการปกครอง 1,017.4 ล้านบาท
มาตรา 8 กระทรวงศึกษาธิการ 1,322.1 ล้านบาท จำแนกเป็นงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ,สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 9 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 3.5 ล้านบาท ,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 18.1 ล้านบาท ,มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา 5.7 ล้านบาท ,มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช 2.1 ล้าบาท ,มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี 1.2 ล้าบาท ,มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา 8.1 ล้าบาท มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี 4.3 ล้านบาท ,และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 13.1 ล้านบาท
มาตรา 9 ส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง โดยเป็นงบประมาณสำหรับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 162 ล้านบาท และมาตรา 10 รัฐวิสาหกิจ โดยเป็นงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทย 60 ล้าบาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 84,142.6 ล้านบาท