นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเรื่อง "แนวโน้มโลกและนัยต่อภาคการค้าของไทย" เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและองค์กรระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อจัดทำแผนแม่บทกระทรวงพาณิชย์ สำหรับใช้เป็นกรอบนโยบายการพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมทั้งระดับมหภาค และจุลภาค รวมถึงแนวทางการกำหนด ปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นการเอื้อประโยชน์ในการประสานบูรณาการ เชื่อมโยงแผนงานกับภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก เกษตรกร และผู้บริโภค จะได้รับรู้และมีข้อมูลที่เพียงพอในการประกอบการตัดสินใจเชื่อมโยงเชิงนโยบายในการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป
“กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าภายในและการค้าระหว่างประเทศให้เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล จึงต้องมีทิศทางดำเนินการที่ชัดเจนสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงรวมถึงการเป็นสื่อกลางให้ทุกภาคส่วนรับรู้มาตรการและแนวทางที่ชัดเจนทางการค้า จึงมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนแม่บทของกระทรวงฯ" นายยรรยง กล่าว
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตผู้ช่วย รมว.พาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา"แนวโน้มโลกและนัยต่อภาคการค้าของไทย" ว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด ที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมาจากปัญหาการเมืองไม่แน่นอน ทำให้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของไทยไม่ต่อเนื่อง เพราะการเมืองมาแล้วไป ดังนั้น ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จึงควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้แผนยุทธศาสตร์การค้าไทยเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในทศวรรษหน้า ไม่เช่นนั้นส่วนแบ่งตลาดการค้าของไทยในตลาดโลกจะลดทอนลงไปเรื่อยๆ
“การเติบโตเศรษฐกิจโลกจะไม่เหมือนก่อน จะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรวมเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม จนแยกกันไม่ออก อีกทั้งเศรษฐกิจโลกต้องรับมือกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ ดังนั้น การจัดยุทธศาสตร์การค้าให้ชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา” นายสุวิทย์กล่าว
ด้านนายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จุดเด่นของไทยคือที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ทางการค้า ที่สามารถเชื่อมโยงภูมิภาคได้ แต่ที่ผ่านมา การพัฒนาจุดเด่นของไทยไม่มีความต่อเนื่อง เพราะปัญหาการเมือง ที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ที่มักมีรัฐบาลมาจากหลายพรรคการเมือง ดังนั้น เอกชนจึงกำหนดจัดทำแผนพัฒนาด้านการค้าและสังคมขึ้นมาเอง เพื่อลดการพึ่งพารัฐบาล และพร้อมนำแผนดังกล่าวเสนอให้พรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังจะหาเสียงเลือกตั้งนำไปใช้หาเสียงด้วย