นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรถึงหลักการและความจำเป็นในการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 54 จำนวนไม่เกิน 1 แสนล้านบาท โดยแบ่งได้เป็น งบประมาณเพื่อการฟื้นฟูและแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติ 9,900 ล้านบาท, งบประมาณในการจัดสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 5,957 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังอีก 84,142 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 54 จำนวนไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ที่นำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บได้สูงกว่าที่ประมาณการไปชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว และจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูผลกระทบจากภัยพิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพื่อให้สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในปีงบประมาณ 54 ไม่น้อยกว่า 25%
"รายการค่าใช้จ่ายตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นความพยายามที่รัฐบาลมุ่งหวังจะดำเนินมาตรการเพื่อฟูและแก้ไขปัญหาของประชาชนจากเหตุอุทกภัย และวาตะภัย รวมทั้งดำเนินนโยบายการคลังที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดการขาดดุลงบประมาณ เพื่อเข้าสู่งบประมาณสมดุลภายใน 5 ปี หวังว่าสมาชิกฯ จะให้การสนับสนุนและรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
อย่างไรก็ดี การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในครั้งนี้ สะท้อนถึงผลสำเร็จของรัฐบาลในความพยายามจะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และวางรากฐานให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะไม่ย้อนกลับเข้าสู่วิกฤติเช่นในอดีตที่ผ่านมา
โดยในปี 53 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับ 7.9% เงินเฟ้อ 3.5% ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเข็มแข็งของพื้นฐานเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกใน 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 53 ที่ขยายตัวสูงถึง 21.6% ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ธ.ค.53 สูงถึง 1.8 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
การขยายตัวในระดับสูงในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 54 เติบโตได้ 3.5-4.5% อัตราเงินเฟ้อ 2.5-3.5% โดยมีการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป ขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี จากเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณของการฟื้นตัวในเชิงบวก
ประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา และแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลในปัจจุบัน ทั้งการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม และการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงประสิทธิภาพของภาคเกษตรและบริการ รวมทั้งการสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ของประชาชนและรายได้รวมของประเทศสูงขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 54 ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่รัฐบาลต้องระมัดระวังในการบริหารเศรษฐกิจ คือ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากแรงกดดันของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
"สภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ในปีงบ 54 ได้สูงกว่าประมาณการรายได้ที่ประมาณการไว้เดิม 1.2 แสนล้านบาท ดังนั้นเพื่อให้การบริหารการคลังภาครัฐเป็นไปอย่างเหมาะสมภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินมาตรการเข้าสู่ภาวะงบประมาณสมดุล รัฐบาลจึงเห็นควรจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบ 54 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำหนดนโยบายการคลัง และวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 55" นายกรัฐมนตรี กล่าว