ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คา ดGDP ปี 53 โต 7.8% ส่วนปี 54 คาดชะลอลงเหลือ 4-5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในไตรมาส 4/53 จะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 3.5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสนี้มีแรงส่งให้ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด จากปัจจัยบวกสำคัญคือการส่งออกที่เร่งตัวขึ้น ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 53 จากการเติบโตดีเกินคาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน

ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในเดือนธ.ค.53 บันทึกสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอานิสงส์จากปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ได้เข้ามาช่วยลดผลกระทบจากภาวะอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และฉุดให้การลงทุนโดยเฉพาะการก่อสร้างชะลอตัวลง

"อัตราการขยายตัวของจีดีพีน่าจะมีระดับไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.5 ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2553 เติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7.8 จากที่หดตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ส่วนช่วงไตรมาสแรกของปี 54 ภาพเศรษฐกิจต่างประเทศยังคงสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และประเทศขนาดใหญ่ในยุโรป ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เมื่อผนวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง น่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/54 อาจขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/53 ตามการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ หลังผ่านพ้นช่วงอุทกภัย แต่ด้วยผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อน ทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังคงชะลอตัวลงมาอยู่ไม่เกิน 2.0%

อย่างไรก็ดี ทิศทางราคาสินค้าที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนธนาคารโลกออกมาเตือนถึงระดับราคาที่สูงถึงขีดอันตราย รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทะยานสูงเกินคาดทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์) จากแรงผลักของปัญหาความไม่สงบในอียิปต์ ซึ่ง 2 ปัจจัยอันไม่ปกติดังกล่าวอาจสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันเงินเฟ้อของหลายประเทศในเอเชียและยูโรโซนได้สูงเกินกรอบเป้าหมายของทางการไปแล้ว และหากพัฒนาการของแรงกดดันเงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้นอาจไม่เป็นผลดีต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากทิศทางเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตในระดับที่ดีในปี 54 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4-5% ซึ่งแม้จะชะลอลงกว่าในปีที่ผ่านมาบ้าง แต่น่าจะเป็นแรงบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในประเทศยังมีปัจจัยสนับสนุนจากลงทุน ทั้งโครงการที่ดำเนินต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และโครงการใหม่ของภาครัฐในปีนี้ รวมถึงงบประมาณฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัย

ประกอบกับมาตรการเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นของรัฐบาล ภายใต้นโยบายประชาวิวัฒน์และนโยบายด้านราคาสินค้าในเชิงประคับประคองไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากเกินไป สำหรับการบริโภคของภาคเอกชนก็ยังมีแรงหนุนจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าจ้างเงินเดือนทั้งในส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งอาจลดทอนผลกระทบของค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้บ้าง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงหลักในปีนี้มี 2 ด้าน คือ เงินเฟ้อและความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยแรงกดดันเงินเฟ้ออาจเป็นตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองอาจมีผลต่อความต่อเนื่องของนโยบายและทำให้เกิดความล่าช้าของโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ