ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบปอนด์ หลังสหรัฐเผยดัชนีราคาผู้ผลิตพุ่ง

ข่าวต่างประเทศ Thursday February 17, 2011 07:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 ก.พ.) เนื่องจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) ปรับตัวสูงขึ้น

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.22% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ระดับ 1.6088 ปอนด์ จากระดับของวันอังคารที่ 1.6123 ปอนด์ แต่อ่อนตัวลง 0.56% เมื่อเทียบกับยูโรที่ระดับ 1.3564 ยูโร จากระดับ 1.3489 ยูโร

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังร่วงลง 0.11% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 83.660 เยน จากระดับของวันอังคารที่ 83.750 เยน และร่วงลง 0.81% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9592 ฟรังค์ จากระดับ 0.9671 ฟรังค์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.78% แตะที่ 1.0032 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันอังคารที่ 0.9955 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 0.55% แตะที่ 0.7552 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7511 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนจากรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐที่ระบุว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) เดือนม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นน้ำมันดิบ ส่งผลให้ราคาสินค้าประเภทอื่นๆในสหรัฐปรับตัวขึ้นด้วย นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะนี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือซีพีไอเดือนม.ค.พุ่งแตะ 4.0% จากระดับ 3.7% ในเดือนธ.ค. โดยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนม.ค.ยืนอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี และนับเป็นอีกหนึ่งเดือนที่เงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 2%

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.ของสหรัฐ หดตัวลง 0.1% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% เนื่องจากสภาพอากาศที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติทำให้ผลผลิตด้านสาธารณูปโภคปรับตัวลดลง ขณะที่ผลผลิตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ปรับตัวลงด้วยเช่นกัน

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ในสัปดาห์นี้ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนม.ค.,จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐเดือนม.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ