(เพิ่มเติม) สคร.คาด กฟผ.-กปน.มีความชัดเจนตั้ง Infrastucture Fund ภายในครึ่งปีแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 17, 2011 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกุลิศ สมบัติศิริ ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 54 น่าจะเห็นความชัดเจนในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastucture Fund) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ต้องการระดมเงินทุนในโครงการโรงไฟฟ้า มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และการประปานครหลวง(กปน.) ในโครงการสร้างโรงกรองน้ำฝั่งธนบุรี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทเช่นกัน

สำหรับโครงการของ กฟผ.ขณะนี้ได้มีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว พบว่าโครงการที่จะจัดตั้ง Infrastucture Fund ไม่ขัดกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) สามารถนำโครงการมาระดมเงินได้ ซึ่งขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงผลดีผลเสียของการจัดตั้งกองทุน ก่อนนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการ และจะมีการจัดตั้งที่ปรึกษาทางการเงินต่อไป ขณะเดียวกันการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะให้เป็น KPI ของ กฟผ.ด้วย

ส่วนกรณีของ กปน. ขณะนี้ได้มีการตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบริษัทเอกชน ที่ดำเนินธุรกิจพลังงานทางเลือกให้ความสนใจที่จะจัดตั้ง Infrastucture Fund ซึ่งหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนเปิดกว้างทั้งภาคเอกชนและผู้ที่รับสัมปทานจากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้

นายกุลิศ กล่าวในงานสัมมนา MFC Finance Forum ครั้งที่ 8 เรื่อง “Infrastructure Fund: The New Investment for the Next Decade"ว่า ได้มีการจัดทำหลักเกณฑ์ที่รัฐวิสาหกิจจะสามารถจัดตั้งกองทุน Infrastructure Fund ได้ ประกอบด้วย ภาครัฐ หรือ หรือรัฐวิสาหกิจยังคงความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สามารถระดมทุนผ่านกองทุนได้โดยต้องไม่มีลักษณะการเป็นหนี้ ดังนั้น การจ่ายผลตอแบทนต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการและผู้ลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้ การจัดตั้งกองทุนต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสินทรัพย์ที่ใช้ระดมเงินผ่านกองทุน ต้องระบุและวัดผลการดำเนินงานได้

"มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลการจัดตั้งกองทุน มีปลัดกระทรวงคลังเป็นประธาน เพื่อดูว่ามีรัฐวิสาหกิจใดที่จะนำโครงการมาจัดตั้งกองทุนได้...กองทุนนี้ไม่ได้เป็นการขายชาติ ขายทรัพย์สินของแผ่นดิน เพราะมีหลักการชัดเจน ป้องกันความสับสนระหว่างการเอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์"นายกุลิศ กล่าว

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า การจัดตั้ง Infrastructure Fund มีส่วนในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่อัตราส่วนการลงทุนของประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 21% โดยที่เศรษฐกิจช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 3% ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่น่าพอใจ ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 11 (ปี 55-59) มีเป้าหมายให้จีดีพีเติบโต 6% ต่อปี ภายใต้การลงทุนต้องขยายตัวเฉลี่ย 7.4% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5% การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว 5.9% และการลงทุนรวมต้องอยู่ที่ 29%รายได้ประชาชาติ

แต่จากการที่รัฐบาลมีข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณ โดยมีงบรายจ่ายประจำถึง 80% และงบชำระหนี้เงินกู้ ทำให้การเพิ่มงบลงทุนมีข้อจำกัด ขณะที่มีเป้าหมายเพิ่มอัตราการส่วนใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจากปัจจุบันอยู่ที่ 22% เป็น 29% ภายใน 5 ปี ดังนั้น จึงต้องมีการเร่งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน แต่การที่รัฐบาลมีนโยบายขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องถึงปี 58 ซึ่งทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการลงทุนร่วมกับภาคเอกชนในลักษณะ PPP หรือการจัดตั้ง Infrastructure Fund

ทั้งนี้ ในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการตั้ง Infrastructure Fund ระดมเงินเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

นายภูมิใจ อัตตะนันท์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ข้อเสนอแนะว่า การจัดตั้ง Infrastructure Fund เป็นเรื่องที่ดี แต่ขอให้มีการดูแลเรื่องราคาการใช้บริการโครงการของรัฐ เช่น ด้านขนส่ง ค่าไฟฟ้า ที่รัฐบาลต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งในส่วนของประชาชน ผู้ให้บริการ และผู้ลงทุน ดังนั้น จะต้องมีการสร้างความมั่นใจได้ว่าโครงการใดเป็นบริการสาธารณะที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชย และโครงการใดเป็นการบริการที่ต้องแข่งขันเชิงพาณิชย์

"รายรับของโครงการในการตั้งกองทุน มีผลต่อความสำเร็จในการจัดตั้ง เพื่อให้ pricing มีความเป็นธรรม จะต้องมีการแยกให้ชัดเจนว่าส่วนไหนที่ให้เป็นการแข่งขันเชิงพาณิชย์ และบริการสาธารณะที่รัฐต้องชดเชย"นายภูมิใจ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ