บรูซ คัสมาน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเจพีมอร์แกน กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีแรงขับเคลื่อนที่ดี แม้ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายต่างๆที่เป็นผลมาจากวิกฤตการเงิน ความเสี่ยงที่เกิดจากหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
"ผมคิดว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงที่มีแรงขับเคลื่อนที่ดี และเชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวแข็งแกร่งในปี 2554 แต่เศรษฐกิจโลกจะยังคงเผชิญกับปัญหาท้าทายที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เป็นผลพวงจากวิกฤตการเงิน" บรูซกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว
เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงินโลกซึ่งเริ่มต้นในช่วงกลางเดือนก.ย.2551 และได้รับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถรักษาระดับการฟื้นตัวเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่นวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน
คัสมานยังกล่าวด้วยว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีปัญหาอย่างมากในการรักษาความยั่งยืนด้านการคลัง ขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินเพื่อต้านแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
"ผมคิดว่าเศรษฐกิจโลกกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี แต่เราต้องตระหนักว่าการที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้นยังจะต้องใช้เวลาอีกนาน" คัสมานกล่าว
เมื่อพูดถึงเรื่องความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว คัสมานกล่าวว่า แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนักในปี 2554 แต่ก็ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงเป็นปัญหาระยะยาว
"ถ้าเรามองดูภาพรวมในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่ามีไม่กี่ประเทศที่มีสถานะการคลังที่ยั่งยืน" คัสมานกล่าว
อย่างไรก็ตาม คัสมานกล่าวว่า ความเสี่ยงที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะผิดนัดชำระหนี้นั้น ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่กลุ่มประเทศยูโรโซนก็มีมาตรการเชิงโครงสร้างในการจัดการกับวิกฤตหนี้สิน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะผิดนัดชำระหนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐยังไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
คัสมานเตือนว่า รัฐบาลควรให้ความสนใจกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์นอกกลุ่มอาหารในประเทศตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้จะเผชิญกับบททดสอบที่หนักหน่วงเมื่อมีการปรับนโยบายการเงิน และยังกล่าวด้วยว่า การเก็งกำไรระลอกใหม่ในตลาดการเงินอาจจะเกิดขึ้นอีก เนื่องจากสหรัฐ กลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่น ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อรับมือกับวิกฤตการเงิน
คัสมานได้รับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี 2528 ซึ่งก่อนที่จะทำงานให้กับเจพีมอร์แกนในปี 2537 นั้น คัสมานทำงานเคยร่วมงานกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก และมอร์แกน สแตนลีย์ มาก่อน