นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม คาดว่า ไทยจะลงนาม MOU กับรัฐบาลจีนในโครงการร่วมทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ในเดือน เม.ย.-พ.ค.54 ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 600 กม. มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้น แต่ตามรัฐธรรมนูญไทย จะต้องถือหุ้นมากกว่า 51% และหลังมีข้อสรุปการร่วมลงทุนแล้ว จะต้องเสนอต่อที่ประชุมครม.และสภาให้ความเห็นชอบ และคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 55
และในวันนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธา สัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ (PMC) และสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ
นายสุพจน์ ในฐานะประธาน รฟม. กล่าวว่า การเซ็นสัญญาในวันนี้แล้วจะเริ่มการก่อสร้างโครงการได้ภายใน 30 วัน และใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 59 แต่จะพยายามให้สามารถเปิดบริการได้ก่อนกำหนด
ทั้งนี้สัญญาก่อสร้างงานโยธา ประกอบด้วย 5 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 เป็นงานก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามชัย ระยะทาง 2.8 กม. มีสถานีใต้ดิน 2 สถานี วงเงินก่อสร้าง 1.14 หมื่นล้านบาท ดำเนินการโดย บมจ.อิตาเลียน ไทย ดิเวลล็อปเม้นท์ (ITD) สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงสนามชัย-ท่าพระ ระยะทาง 2.6 กม. มีสถานีใต้ดิน 2 สถานี วงเงินก่อสร้าง 1.07 หมื่นล้านบาท ดำเนินการโดย บมจ.ช.การช่าง (CK)
สัญญาที่ 3 เป็นเส้นทางยกระดับช่วง เตาปูน-ท่าพระ ระยะทาง 11 กม. มีสถานียกระดับ 8 สถานี และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 1 สะพาน วงเงินก่อสร้าง 1.13 หมื่นล้านบาท ดำเนินการโดยกิจการร่วมค้า เอสเอช-ยูเอ็น สัญญาที่ 4 เส้นทางยกระดับช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 10.5 กม.มีสถานียกระดับ 7 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดและจร 2 แห่ง วงเงินก่อสร้าง 1.33 หมื่นล้านบาท ดำเนินการโดย บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง (STEC) และสัญญาที่ 5 เป็นงานระบบรางรถไฟฟ้าทั้งโครงการ ดำเนินการโดย CK วงเงินก่อสร้าง 4.99 พันล้านบาท