ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองราคาอาหาร-น้ำมัน-การเมืองคือความเสี่ยงทางศก.ไทยปี 54

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 21, 2011 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2554 มีแนวโน้มชะลอตัวจากที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 15 ปีที่ร้อยละ 7.8 ในปี 2553 ลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0-5.0 โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า แต่เศรษฐกิจยังคงได้แรงขับเคลื่อนจากปัจจัยภายในประเทศ นำโดยการลงทุนโดยรวมและการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยหนุนการจ้างงานและการบริโภคตามมา แต่ทว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ คือ ปัจจัยด้านราคาอาหาร ราคาน้ำมัน และความไม่แน่นอนทางการเมือง

ซึ่งในส่วนของราคาอาหารและพลังงาน ด้วยอุปสงค์ที่ขยายตัวก็เป็นตัวแปรที่ผลักดันให้ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่แล้ว แต่ยิ่งหากมีปัจจัยที่ไม่ปกติ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือขยายขอบเขตและยืดเยื้อยาวนานออกไป จะยิ่งเป็นแรงส่งให้ราคาอาหารหรือราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายกว่ากว่าที่คาดคิดไว้ ทั้งภาวะเงินเฟ้อและทิศทางเศรษฐกิจ ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการเผชิญภาวะ Stagflation ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยราคาอาหารแพงจะกระทบต่อประชาชนทุกระดับ

ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ซึ่งในกรณีของประเทศพัฒนาแล้ว ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ดอลลาร์ฯ อาจทำให้จีดีพีเติบโตลดลงประมาณร้อยละ 0.5 แต่ในประเทศกำลังพัฒนาจะกระทบในสัดส่วนที่สูงกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจมีอัตราการพึ่งพาการใช้น้ำมันต่อจีดีพีที่สูงกว่า โดยในกรณีของไทยจะทำให้จีดีพีหายไปถึงร้อยละ 1 หากโครงสร้างการส่งผ่านราคาเป็นไปตามกลไกปกติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากรัฐบาลยังคงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและการตรึงราคาพลังงานต่อไปตลอดทั้งปี 2554 ทางการอาจต้องใช้วงเงินสนับสนุนถึง 50,000-80,000 ล้านบาท หรืออาจสูงกว่านั้นหากราคาพลังงานสูงเกินระดับที่คาดการณ์ไว้ และเงื่อนไขมาตรการยังเป็นไปในลักษณะที่ควบคุมดูแลอย่างเข้มข้น ซึ่งในแง่หนึ่งจะช่วยประคับประคองกำลังซื้อของภาคครัวเรือนไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจทำให้ประชาชนมีความตระหนักต่อการประหยัดพลังงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และรัฐบาลต้องแบกรับภาระขาดดุลงบประมาณซึ่งอาจจะมีผลต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะต่อไป

เศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 15 ปีที่อัตราร้อยละ 7.8 นับเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตสูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชีย รองจาก สิงคโปร์ (14.5) ไต้หวัน (10.5) และจีน (10.3) ซึ่งจากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพีของไทยในช่วงไตรมาสที่ 4/2553 ขยายตัวดีขึ้นหากมองเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Quarter-on-Quarter ปรับฤดูกาล) หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 4/2552 อัตราการขยายตัวของจีดีพียังคงชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (Year-on-Year) เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่สูง
?          ภาพในลักษณะดังกล่าวน่าจะยังคงปรากฏต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1/2554 ที่กิจกรรมเศรษฐกิจโดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติ หลังจากถูกฉุดรั้งจากปัญหาอุทกภัยในไตรมาสที่ 4/2553 นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดที่มีการรายงานออกมาก็บ่งชี้ทิศทางการเติบโตที่ค่อนข้างต่อเนื่อง เช่น ตัวเลขยอดขายรถยนต์ในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นในเดือนมกราคม 2554 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 1/2554 อาจจะขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 1.4-1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ ปรับฤดูกาล) แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว จีดีพีอาจขยายตัวเพียงเล็กน้อยในอัตราประมาณร้อยละ 1.6-2.0 (YoY) เนื่องจากต้องเปรียบเทียบกับฐานในไตรมาสที่ 1/2553 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วที่สุดในรอบ 15 ปี (ที่ร้อยละ 12 YoY)
?          ภาพรวมในปี 2554 ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มชะลอลงตามการส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาเติบโตในระดับที่เป็นปกติมากขึ้น หลังจากที่ในปีที่ผ่านมากิจกรรมการผลิตเติบโตสูงอย่างมากจากปัจจัยเร่งหลายด้าน อาทิ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยนำออกมาใช้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย การเริ่มต้นของการเปิดเสรีเต็มรูปแบบภายในภูมิภาคอาเซียน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ เป็นต้น สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2554 คาดว่าจะมาจากปัจจัยภายในประเทศมากขึ้น นำโดยภาคการลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนผลกระตุ้นเศรษฐกิจหากมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น
?          การลงทุนโดยรวมในปี 2554 อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 8.3-9.8 (ใกล้เคียงกับปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4) ตามการขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร พลังงานและปิโตรเคมี ขณะที่โครงการลงทุนของภาครัฐน่าจะขยายตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งการเติบโตของการลงทุนจะช่วยขยายการจ้างงาน อันจะเป็นปัจจัยหนุนรายได้และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน โดยคาดว่าอัตราการว่างงานในปี 2554 อาจลดลงต่อเนื่องลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9-1.0 ของกำลังแรงงาน ซึ่งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าจ้างเงินเดือนทั้งในส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐ จะมีส่วนเพิ่มกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ซึ่งอาจแบ่งเบาภาระค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้บ้าง จึงคาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 3.4-4.1 (ใกล้เคียงกับปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.8)
?          ด้านการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลน่าจะยังคงเพิ่มขึ้นจากแนวทางการดำเนินนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล รวมทั้งความจำเป็นในการเข้ามาควบคุมดูแลค่าครองชีพและราคาพลังงาน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า? หากมีการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ 3 ด้าน คือ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรีและค่าไฟฟรี ตลอดจนมาตรการตรึงราคาพลังงานในส่วนของน้ำมันดีเซลและก๊าซแอลพีจี (สำหรับภาคครัวเรือนและขนส่ง) ไปตลอดทั้งปี 2554 รัฐบาลอาจต้องใช้วงเงินสนับสนุนถึง 50,000-80,000 ล้านบาท หรืออาจสูงกว่านั้นหากราคาพลังงานในตลาดโลกทะยานสูงขึ้นเกินความคาดหมาย โดยตามสมมติฐานประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2554 อยู่ในช่วง 92.0-100.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
?          โดยภาพรวมในปี 2554 คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-5.0 แม้ชะลอลงจากร้อยละ 7.8 ในปี 2553 แต่ก็นับเป็นระดับที่สนับสนุนให้ภาคเศรษฐกิจและธุรกิจมีแรงขับเคลื่อนให้เติบโตได้พอสมควร อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้อยู่ที่ปัจจัยด้านราคาอาหารและราคาน้ำมัน ที่โดยปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์-อุปทานเองก็เป็นตัวแปรที่ผลักดันให้ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่แล้ว และหากมีปัจจัยที่ไม่ปกติเกิดขึ้น เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตอาหารโลก หรือปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือขยายขอบเขตและยืดเยื้อยาวนานออกไป ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้ราคาน้ำมันทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจโลกให้กลับมาชะลอตัวรุนแรงเท่านั้น แต่อาจสร้างความเสี่ยงต่อโอกาสเกิดภาวะ Stagflation หรือสภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอแต่เงินเฟ้อกลับมีระดับสูง นอกจากนี้ยังอาจกลายเป็นชนวนของความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองในบางประเทศได้ จากภาวะขาดแคลนอาหารและค่าครองชีพถีบตัวสูง สำหรับทิศทางการเมืองไทยนั้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะข้างหน้าอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบถึงความต่อเนื่องเชิงนโยบาย และมีผลให้โครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐอาจจะต้องล่าช้าไปกว่าแผนการที่วางไว้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ