(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ คงคาด GDPปี 54 โต 3.5-4.5%จาก 7.8% ปี 53,เพิ่มคาดเงินเฟ้อปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 21, 2011 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 54 เติบโต 3.5-4.5% จากที่เติบโต 7.8% ปี 53 แต่ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาที่ 2.8-3.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.5-3.5%

การบริโภคของภาคครัวเรือน ขยายตัว 4.0% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 8.5% มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 12.5% และ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 3.2% ของ GDP ลดลงจากการเกินดุล 4.6% ของ GDP ในปี 2553

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช. กล่าวในการแถลงข่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 54 ยังจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 53 ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 3.8-4.2% อัตราแลกเปลี่ยน 29.5-30.5 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 85-95 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น คาดว่าทั้งปีนี้ปรับขึ้นไม่เกิน 1%

สำหรับสถานการความขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน ยอมรับว่า อาจเป็นประเด็นต่อเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติมีความเข้าใจต่อสถานการณ์การเมืองของไทยตลอดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งดูได้จากในปีที่แล้วที่แม้จะมีปัญหาการเมืองรุนแรงในประเทศ แต่ภาคการท่องเที่ยวยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ไตรมาส 3 ดังนั้น จึงเชื่อว่าตราบใดที่การชุมนุมทางการเมืองไม่ส่งผลต่อ Infrastructure หลัก ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเท่าใดนัก

"ปัญหาการเมืองก็คงเป็นประเด็น(ต่อเศรษฐกิจ)บ้าง แต่อยู่ที่ว่าคนเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน ปีก่อนท่องเที่ยวเราฟื้นเร็วมาก ตราบใดที่ไม่ไปกระทบ Infrastructure หลัก ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจเท่าไหร่" เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ ระบุ

สำหรับปัจจัยหนุนต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 54 คือ การปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนในด้านการส่งออก การผลิตและการท่องเที่ยว, รายได้ของผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากการปรับขึ้นเงินเดือนของราชการและภาคเอกชน รวมทั้งรายได้ของเกษตรกรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ยางพารา มันสำปะหลังและอ้อย

สถาบันการเงินมีเสถียรภาพ สภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับที่สูง เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ, ภาคบริการ ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 16.8-17 ล้านคน

อย่างไรก็ดี ในปี 54 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง คือ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่สหภาพยุโรป มีปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูงและการดำเนินนโยบายการคลังที่ไม่เอื้อต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ญี่ปุ่นการบริโภคขยายตัวเพียงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และจีน ที่มีการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยการลดเป้าหมายปริมาณสินเชื่อและเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

2. การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยและแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 3.ขณะที่สถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง จุดนี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค นักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักลงทุนได้

4.สถานการณ์การผลิตภาคเกษตรและรายได้ของเกษตรกรที่ยังมีความไม่แน่นอน จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับต้นทุนการผลิตทีเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน 5.ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำของสหรัฐและสหภาพยุโรป ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ ในเอเชียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

6.การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรมที่จะทำให้สูญเสียดอกาสในการแข่งขัน และเป็นอักปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 54 สภาพัฒน์ฯ แนะรัฐบาลให้ความสำคัญดังนี้ 1.การดูแลราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค, 2.การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สมดุลระหว่างการรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการเคลื่อนย้ายเงินทุน

3.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและโครงการลงทุนสำคัญที่จำเป็นต่อการสร้างศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระระยะยาว 4.การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและการบริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ 5.เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และ 6.เร่งฟื้นฟูความสามัคคีของคนในชาติและแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับ GDP ของทั้งปี 53 เติบโต 7.8% โตต่ำกว่าคาดการณ์เดิม เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/53 เกิดภาวะน้ำท่วมหนัก ทำให้ GDP เติบโตในไตรมาส 4/53 โตเพียง 3.8% ชะลอลงจากไตรมาส 3/53 ที่เติบโต 6.6% เป็นผลมาจากภาคเกษตรกรรมหดตัว เนื่องจากได้รับรับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้ผลผลิตภาคเกษตรที่สำคัญ เช่น มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย ข้าวเปลือกปรับตัวลดลง

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวมาจาก การขยายตัวจากภาคการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี โดยในไตรมาส 4/53 การส่งออกเติบโตถึง 21.2% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 51,850 ล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติการณ์ โดยการส่งออกสินค้าสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง, การท่องเที่ยว ในไตรมาส 4/53 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามากสุด 4.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 54.1% นักท่องที่ยวส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้ จีนและอินเดีย ส่งผลให้ทั้งปี 53 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 15.8 ล้านคนเพิ่มขึ้น 12% จากปี 52

ด้านการลงทุนภาคเอกชน เติบโต 9.2% มาจากการขยายตัวทั้งจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร และสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการขยายตัวก่อสร้างอาคารโรงงานเป็นหลัก ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในภาวะตึงตัวในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจเป็นการผลิตเม็ดพลาสติก รถยนต์ การผลิตยาง, การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในไตรมาส 4/53 โต 3.8% มีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกรที่ราคาพืชผลเพิ่มขึ้น เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับ ภาวะการจ้างงานยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีอัตราการว่างงานเพียง 0.9%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ