นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานสัมมนา“ความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงปี 2554" จัดโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาขนาดใหญ่และมีผลกระทบไปทั่วทั้งโลกอย่างที่ไม่เคยคาดถึง ดังนั้น ผู้มีหน้าที่บริหารความเสี่ยงจึงมีหน้าที่หลักที่จะต้องสามารถมองภาพลวงตาให้ทะลุ และติดตามประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญโดยเฉพาะปัจจัยด้านเศรษฐกิจในต่างประเทศ
ภาพลวงตาในอดีตมี 4 ด้าน ได้แก่ 1) ภาพลวงตาของความมั่งคั่ง ซึ่งนำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนเกินไปเป็นเวลานานในสหรัฐอเมริกา จนเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ 2) ภาพลวงตาสภาพคล่อง จากการที่ตราสารประเภทที่ซับซ้อนได้อันดับเครดิตที่สูงเกินควร ทำให้ผู้ซื้อตราสารดังกล่าวไม่คำนึงถึงปัญหาสภาพคล่องของตราสารนั้น
3) ภาพลวงตาของความมั่นคง โดยเชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินยิ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งมีความมั่นคง แต่ภายหลังเมื่อประสบปัญหา รัฐบาลต้องเข้าไปประกันเงินฝาก พบว่าธนาคารมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลจะเข้ามาแบกรับภาระ และ 4) ภาพลวงตาของการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในยุโรป ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่ามีการรวมตัวอย่างแน่นแฟ้น ทำให้ประเทศขนาดเล็กได้อันดับเครดิตที่สูงเกินจริง แต่ภายกลังพบว่าเมื่อประเทศหนึ่งประสบปัญหา จะไม่มีการช่วยเหลือด้านงบประมาณจากประเทศอื่น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ผู้มีหน้าที่บริหารความเสี่ยงต้องติดตาม 4 ปัจจัย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการเมืองในตะวันออกกลาง ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร การปรับตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน และวิธีการแก้ปัญหาหนี้ภาครัฐในยุโรป โดยผู้บริหารความเสี่ยงจะต้องคำนึงถึงปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่จะเกิดขึ้นจากการเมืองในตะวันออกกลาง และของสินค้าเกษตรที่มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้ผลผลิตลดลงและราคาเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนการปรับตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ซึ่งในอนาคตภาคแรงงานน่าจะมีอำนาจต่อรองค่าจ้างมากขึ้น อาจจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และอัตรากำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมลดต่ำลง และทำให้เกิดความผันผวนของกระแสเงินทุนเข้าไปยังประเทศเอเชีย
และที่สำคัญ ควรจะติดตามการแก้ปัญหาหนี้ภาครัฐในยุโรปว่าจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดคือ การปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการลดหนี้(haircut)ให้แก่ประเทศที่มีฐานะอ่อนแอ อย่างไรก็ดี วิธีการนี้อาจทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดพันธบัตร เนื่องจากนักลงทุนจะเร่งเทขายพันธบัตร เพราะคาดได้ว่าจะมีการใช้วิธีการเช่นเดียวกันนี้กับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรป ซึ่งถือครองพันธบัตรรัฐบาลของประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน กว่า 78% ของหนี้ทั้งหมด 2.6 ล้านล้านยูโร ต้องประสบผลขาดทุนจนทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเพิ่มทุนอีกรอบหนึ่ง
“เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจะสามารถตกลงกันได้ โดยประเทศที่แข็งแรงอาจจะต้องเข้ามาช่วยเหลือประเทศที่อ่อนแอมากขึ้น เพียงแต่ว่าการเจรจาตกลงกันอาจจะใช้เวลานานและสถานการณ์ก็อาจจะคืบคลานเข้าไปใกล้วิกฤตหนักเสียก่อน ซึ่งสามารถทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนได้มาก จึงเป็นความเสี่ยงที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งในปีนี้และในปีต่อ ๆ ไป" นายธีระชัย กล่าว