ครม.อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ 2 และวังน้อย 4 มูลค่าลงทุน 4.5 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 22, 2011 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 วงเงินลงทุน 23,724.5 ล้านบาท และโครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 วงเงินลงทุน 21,474 ล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ รวมเป็นวงเงินประมาณ 45,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานรายงานว่า โครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 ได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010)

โดยในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนมิ.ย.57 ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงไฟฟ้าวังน้อย เขตตำบลข้าวงาม และตำบลวังจุฬา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (โรงไฟฟ้าฐาน) ประกอบด้วย เครื่องผลิตฟ้ากังหันแก๊ส 2 เครื่อง เครื่องผลิตไอน้ำ 2 เครื่อง เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำ 1 เครื่อง รวมกำลังผลิตสุทธิ 800 เมกะวัตต์

ประโยชน์ที่จะได้รับจากโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 คือ 1. รักษาระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคกลาง โดยสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ 2. ลดความสูญเสียของระบบไฟฟ้าจากการส่งพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้า (Load Center) 3. สร้างความสมดุลระหว่างโรงไฟฟ้าของรัฐและเอกชน และ 4. พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน รวมทั้งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้า

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนก.ค.57 ตั้งอยู่ภายในพื้นที่โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 เขตตำบลป่าชิง และตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เดินเครื่องโรงไฟฟ้าในลักษณะ Base Load กำลังการผลิตติดตั้ง 800 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าประกอบด้วย หน่วยผลิตไฟฟ้า 2 หน่วย กำลังการผลิตติดตั้งหน่วยละ 400 เมกะวัตต์ แบบ Single shaft Combined Cycle Configuration, เครื่องควบแน่นและหอหล่อเย็น, ระบบไฟฟ้าและระบบควบคุม, สถานีไฟฟ้าแรงสูง และระบบปรับสภาพน้ำ

ประโยชน์ที่จะได้รับจากโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 คือ 1. รักษาระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ โดยสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ 2. ลดความสูญเสียของระบบไฟฟ้าจากการส่งพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลางรวมทั้งเพิ่มความคล่องตัวในการควบคุมและการจ่ายไฟฟ้า

3. เป็นการใช้ทรัพยากรก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 4. สร้างความสมดุลระหว่างโรงไฟฟ้าของรัฐและเอกชน และ 5. พัฒนาสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ