TMB ห่วงวิกฤตอาหารโลกหนุนพัฒนาผู้ประกอบการอุตฯอาหารของไทยเป็นผู้นำตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 23, 2011 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารเล็งเห็นความสำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลและบทวิเคราะห์เศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศไทยเกี่ยวกับวิกฤติอาหารโลก รวมทั้งการให้คำแนะนำในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขยายตลาดและประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เสริมศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ตอบสนองความต้องการของประชากรโลกได้ดียิ่งขึ้น และ Make THE Difference ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่กำลังมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังมีปัญหาสำคัญที่ประชาชนทั่วโลกต้องเผชิญ นั่นก็คือปัญหาวิกฤตอาหารโลก ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นทั่วโลก

จากข้อมูลของของ IMF และ TMB Analytics พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมาจนกระทั่งต้นปีนี้ ดัชนีราคาอาหารโลกพุ่งขึ้น 21% ในขณะนี้ดัชนีราคาวัตถุดิบที่มาจากภาคการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น 40% สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 10% สาเหตุที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นมาก เพราะความต้องการและการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันจากประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีจำนวนประชากรมากและมีกำลังซื้อสูงขึ้น บวกกับการนำพื้นที่เพื่อการผลิตอาหารไปใช้ในการสนับสนุนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตพลังงานทดแทนอย่างกว้างขวาง

"หมายความว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตราคาพลังงาน วิกฤตด้านราคาอาหารก็จะเกิดตามมาเป็นวัฏจักร หนำซ้ำ ยังมีสาเหตุอื่นๆ นั้น เช่น ภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งการเก็งกำไรเพราะสภาพคล่องที่มากเกินไป เป็นสาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตอาหารโลก"

ทั้งนี้ TMB เล็งเห็นความสำคัญในการให้คำแนะนำและถ่ายทอดความรู้รวมทั้งข้อมูลด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของลูกค้า อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จึงจะมีการจัดการสัมนาในซีรีย์ Borderless on Stage ในหัวข้อเรื่องที่เป็นประเด็นและเป็นข้อกังวลของผู้ประกอบการตลอดทั้งปี โดยในครั้งต่อไปจะจัดการสัมนาในเรื่อง “Lean for Green” ซึ่งเน้นในด้านการบริหารการจัดการที่จะช่วยประหยัดทรัพยากร และต่อด้วยเรื่อง การนำเข้าสินค้า ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจในสถานการณ์ที่เกิดการขาดแคลน เช่น สถานการณ์ขาดแคลนปาล์ม และเรื่องการเปลี่ยนแปลงของ AFTA กับตลาดสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศด้วย และในช่วงปลายปี จะจัดการสัมนาวิเคราะห์และพยากรณ์เศรษฐกิจ เพื่อเป็นการเปิดมุมมองให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ การค้าระหว่างประเทศ ในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารของไทยให้ก้าวเป็นผู้นำในตลาดโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ