(เพิ่มเติม) กพช.มีมติตรึงราคา LPG ภาคครัวเรือนถึง มิ.ย.54,ทยอยลอยตัวภาคอุตฯ ก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 23, 2011 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติขยายเวลาการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(LPG)ภาคครัวเรือน และราคาก๊าซ NGV ออกไปจนถึงเดือน มิ.ย.54 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.พ.54 เพื่อให้เป็นการสอดรับกับมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล

สำหรับในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะทยอยลอยตัวราคา LPG ในเดือน ก.ค.54

ส่วนของภาคขนส่งจะมีการศึกษาเรื่องการทยอยปรับขึ้นราคาแต่จะเป็นเมื่อใดนั้นจะต้องศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคา NGV ให้กับ บมจ.ปตท.(PTT) ในอัตรา 2 บาท/กิโลกรัม ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จากเดิมชดเชยจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.นี้เช่นกัน

นอกจากนี้ กพช.ยังมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาแนวทางการชะลอการขยายตัวของ LPG ในภาคขนส่ง โดยเฉพาะมาตรการภาษีที่จะเก็บเพิ่มสำหรับรถยนต์ที่ใช้ LPG เช่น ภาษีป้ายรถยนต์ เป็นต้น เพื่อชะลอการขยายตัวของแอลพีจีในภาคขนส่ง

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า การใช้แอลพีจีในปี 2553 เฉลี่ยรวม 4.59 แสนตัน/เดือน เป็นการใช้ในภาคครัวเรือน 2 แสนตัน/เดือน ขยายตัวร้อยละ 9.2, รถยนต์ 5.7 หมื่นตัน/เดือน ขยายตัวร้อยละ 2.1, ภาคอุตสาหกรรม 6.5 หมื่นตัน/เดือน ขยายตัวร้อยละ 31, ปิโตรเคมี 1.3 แสนตัน/เดือน ขยายตัวร้อยละ 23.5 ขณะที่แอลพีจีมีการใช้ในโรงกลั่นประมาณ 3.9 หมื่นตัน/เดือน โดยปีที่ผ่านมามีการนำเข้าเฉลี่ย 1.13 แสนตัน/เดือน รัฐบาลต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปชดเชยส่วนต่างราคานำเข้า 21,390 ล้านบาท

รมว.พลังงาน กล่าวต่อว่า เมื่อมีการขยายระยะเวลาการตรึงราคา LPG และ NGV คาดว่า ในปีนี้ประเทศไทยยังต้องนำเข้า LPG ประมาณ 1 แสนตัน/เดือน และกองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยการนำเข้า LPG และ NGV ราว 2,800 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ขณะนี้มีประมาณ 22,000 ล้านบาท แต่มีภาระต้องตรึงราคาดีเซลตามนโยบายไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ทำให้เงินไหลออกประมาณ 5,800 ล้านบาท/เดือน ซึ่งหากราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการประท้วงในประเทศลิเบียจะทำให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ไม่สามารถชดเชยดีเซล 30 บาทได้ถึงเดือน เม.ย.54 ตามมติ กพช.เดิม แต่หากชดเชยแล้วเงินกองทุนน้ำมันฯ ลดลงเหลือ 10,000 ล้านบาท ทาง กพช. จะนัดประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายอีกครั้ง ซึ่งในวันพรุ่งนี้(24ก.พ.) กบง.จะมีการประชุมเพื่อเห็นชอบการอุดหนุนดีเซลเพิ่มเติม เพราะขณะนี้ค่าการตลาดดีเซลเฉลี่ยเหลือประมาณ 90 สตางค์/ลิตรเท่านั้น จากอัตราที่เหมาะสมอยู่ที่ 1.50 บาท/ลิตร

ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบการปรับฐานโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือน ก.ค.นี้ โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ) ไปพิจารณารายละเอียด รวมถึงมาตรการค่าไฟฟรี 90 หน่วยเป็นการถาวร โดยโครงสร้างหลัก ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐานที่จะมีการปรับทุก 2 ปี และค่าไฟฟ้าอัตโนมัติจะปรับทุก 4 เดือนเช่นเดิม และ กพช.ยังมอบหมายให้ กกพ.ไปปรับปรุงโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ จากเดิมที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็ก(เอสพีพี) มีการระบุว่า จ่ายค่าจัดหาหรือมาร์จิ้นในอัตราสูง โดยเอสพีพีจ่ายในอัตราร้อยละ 9.33 ของราคาเนื้อก๊าซฯ ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และผู้ผลิตไฟฟ้าภาดเอกชนรายใหญ่(ไอพีพี) จ่ายในอัตราร้อยละ 1.75 แต่มีการกำ หนดเพดานค่ามาร์จิ้นไม่เกิน 2.15 บาทต่อล้านบีทียู โดยจะมีการปรับในรูปแบบการคำนวณตามอัตราค่าความเสี่ยงของการจัดหาและค่าจัดหาที่จะคำนึงถึงปริมาณและคุณภาพของก๊าซฯ มาคำนวณรวมด้วย โดยจะเป็นธรรมกับทั้งผู้จัดหา คือ ปตท. และผู้ใช้โดยรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ