นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มาครบ 5 ปี พบว่า แนวโน้มมูลค่าการค้าระหว่างกันขยายตัวจากเพียง 20,643 ล้านบาทในปี 2547 และเพิ่มขึ้นเป็น 35,693 ล้านบาทในปี 2543 โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี
โดยในปี 2553 พบว่าไทยส่งออก 21,319 ล้านบาท และนำเข้า 14,374 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าต่อออสเตรเลีย 6,945 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่เคยได้เปรียบเพียง 3,797 ล้านบาทในปี 2547 (ก่อนมี FTA)
อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยยังไม่เป็นไปอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากไทยยังคงมิได้ยกเลิกมาตรการโควตาภาษีสำหรับสินค้า TRQ บางรายการ เช่น นมผงขาดมันเนย มันฝรั่ง ฯลฯ และยังคงมีมาตรการ SSG ในสินค้าจำนวน 23 สินค้า โดยได้กำหนดปริมาณนำเข้าในแต่ละปีไว้จำนวนหนึ่ง (Trigger Volume) และหากนำเข้าเกินปริมาณที่กำหนดจะขึ้นภาษี เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เครื่องในสัตว์ หางนม เนยชนิดต่าง ๆ น้ำผึ้ง ส้ม องุ่น เป็นต้น โดยในปีที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าสินค้าเกิน Trigger Volume จำนวน 7 รายการ (จากทั้งหมด 23 รายการ) คือ เนื้อโค/กระบือ เครื่องในโค/กระบือ หางนม เนยแข็งสด เนยแข็งอื่น ๆ ส้ม และองุ่น ซึ่งเป็นชนิดสินค้าที่ใกล้เคียงกับทุกปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA JC) ครั้งที่ 2 ณ กรุงแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย เพื่อทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรร่วมอยู่ในคณะเจรจาฝ่ายไทยด้วย ซึ่งได้ใช้โอกาสนี้เพื่อรายงานสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและสินค้า SSG ให้ฝ่ายออสเตรเลียทราบด้วย นายอภิชาต กล่าว
อนึ่ง ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ว่าด้วยการลด/เลิกภาษีสินค้าส่วนใหญ่เหลือร้อยละ 0 แล้ว แต่สำหรับสินค้าอ่อนไหวของไทยบางรายการก็ยังสามารถใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard : SSG) ได้จนถึงปี 2560 เพื่อให้เกษตรกรภายในประเทศได้ใช้ระยะเวลาดังกล่าวในการปรับตัว