นางอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประชุมทางไกลผ่านระบบ VDO Conference ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 ก.พ.นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะติดตามการปฏิบัติงานด้านการประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคล ซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อขยายสิทธิการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบใน 2 ทางเลือก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.นี้
การดำเนินการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปประเทศของรัฐบาล โดยทางเลือกแรก คือ จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ประชาชนจ่าย 70 บาท รัฐบาลอุดหนุน 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต
ทางเลือกที่สอง คือจ่ายเงินสมทบ 150 บาท ประชาชนจ่าย 100 บาท รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 ด้าน คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และ กรณีบำเหน็จชราภาพ โดยแรงงานนอกระบบที่ต้องการได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น สามารถจ่ายเงินสมทบในส่วนนี้เพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีแรงงานนอกระบบสนใจสมัครเข้าระบบประกันสังคมในปี 54 จำนวน 2.4 ล้านคน แบ่งเป็น แรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 แสนคน ปริมณฑล จำนวน 1.2 แสนคน และต่างจังหวัด จำนวน 1.68 ล้านคน
นางอัญชลี กล่าวว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีถิ่นฐานและสถานที่ทำงานกระจายอยู่ในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ไม่มีนายจ้างเป็นผู้รวบรวมเงินสมทบ ส่งให้สำนักงานประกันสังคมในแต่ละเดือน กระทรวงแรงงานจึงได้เสนอแนวทางการให้บริการแรงงานนอกระบบจำนวน 2.4 ล้านคน ทั้งการรับเงินสมทบ การปรับปรุงทะเบียน การจ่ายสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน ไม่ให้เป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายของประชาชนด้วยการจัดหน่วยงานประกันสังคมประจำอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ
รวมทั้งให้แยกการบริหารเงินกองทุนประกันสังคม ทะเบียนผู้ประกันตน และงบประมาณที่รัฐบาลจะสมทบในระบบปกติออกจากประกันสังคมแรงงานนอกระบบ และจะจัดตั้งสำนักงานประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบในพื้นที่ต่างๆ เช่น สำนักงานประกันสังคมอำเภอ 1 อำเภอดูแลอำเภอใกล้เคียง 3-5 อำเภอ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ กทม. 1-12 พื้นที่ 1 พื้นที่ดูแล 2-5 เขต เป็นต้น เพื่อให้แรงงานนอกระบบ หรือตัวแทนแรงงานนอกระบบสามารถติดต่องานประกันสังคมโดยไม่เสียเสียเวลา ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก
ขณะเดียวกัน จะร่วมมือกับองค์กรบริหารส่วนตำบล เทศบาล กลุ่มสหกรณ์การเกษตร กลุ่มสหกรณ์การประมง กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ และกลุ่มเครือข่ายอื่นๆ เพื่อจัดทำเครือข่ายการให้บริการประกันสังคม ด้านการรับเงินสมทบ การรับคำร้องขอสิทธิประโยชน์ การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจแรงงานนอกระบบในทุกพื้นที่