นายปรีดี ดาวฉาย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่ลุกลามจนมาถึงลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับที่ 12 ส่งผลกระทบทันทีต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากยืดเยื้ออาจกดดันหลายประเทศขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทุนเคลื่อนย้าย-ค่าเงินผันผวน แต่ถ้าจบเร็วคงไม่มีผลกระทบต่อคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้มากนัก
นายปรีดี กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีครึ่งเหนือ 119 ดอลลาร์/บาร์เรล จากปลายปีที่แล้วที่อยู่ที่ระดับประมาณ 95 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ซึ่งเดิมต่ำกว่าราคาน้ำมันเบรนท์ก็พุ่งขึ้นมาเหนือระดับ 100 ดอลลา/บาร์เรลแล้วในบางช่วงของปีนี้
นอกจากนี้ ความกังวลต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายยังกระตุ้นให้นักลงทุนวิ่งหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย และทองคำที่เป็นหนึ่งในตัวเลือกก็กลับมายืนเหนือระดับ 1,400 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์แล้ว
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ความไม่สงบยืดเยื้อ ลุกลาม และซับซ้อนมากขึ้น ผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันโลก อาจลากยาวนานขึ้นตามไปด้วย และในกรณีเลวร้าย ราคาน้ำมันโลกก็อาจพุ่งเข้าใกล้ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 147 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือสูงกว่านั้น อาจส่งผลย้อนกลับมาสร้างความไม่แน่นอนให้กับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่เป็นขาขึ้นอยู่แล้วจากราคาอาหารให้เลวร้ายมากขึ้น จนอาจกลายเป็นภาวะ Global Stagflation ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สวนทางกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น จนอาจทำให้ธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศ จำต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่รุนแรง ขณะที่กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และค่าเงินบาทก็อาจมีความผันผวนมากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ด้าน โดยผลทางตรงต่อต้นทุนราคาพลังงานในประเทศจากภาวะราคาน้ำมันโลกที่พุ่งขึ้น อาจถูกลดทอนลงบางส่วนจากผลของมาตรการตรึงราคาพลังงานของรัฐบาล ที่ดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่าระดับ 30 บาทต่อลิตรไปจนถึงเดือนเมษายน ควบคู่ไปกับการขยายเวลาตรึงราคาก๊าซ LPG/NGV สำหรับภาคครัวเรือนและภาคขนส่งจนถึงเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันโลกที่ยืนในระดับสูงต่อเนื่อง ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลก และส่งผลทางอ้อมกลับมาที่ภาคการส่งออก ดุลการค้า และเศรษฐกิจโดยรวมของไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
นายปรีดี มองว่า หากเหตุการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือสิ้นสุดลงได้โดยเร็ว ความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ยังน่าจะอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และไม่น่ากระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจปี 54 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0-5.0 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย แม้จะมีทิศทางเร่งตัวขึ้น แต่ก็ยังคงมีค่าเฉลี่ยของทั้งปี 54 ไม่เกินร้อยละ 4.0
อย่างไรก็ดี คงจะต้องมีการทบทวนสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นระยะ ๆ ต่อไป โดยหากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ยืนระดับเหนือ 120 ดอลลาร์/บาร์เรลไปอย่างต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีแล้ว ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและทิศทางดอกเบี้ยก็อาจมีความรุนแรงขึ้นตามไปด้วย
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของทั้งปี 54 อาจจะขึ้นไปถึงระดับร้อยละ 5.0 หรือสูงกว่านั้น ขณะที่การส่งออกของไทย ก็คงจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก สวนทางกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นตามการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้ดุลการค้าของไทยในปี 2554 อาจกลับมาขาดดุลได้ รวมถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยก็คงจะต่ำกว่าร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นกรอบล่างของประมาณการที่วางไว้เดิม