ผู้ประกอบการแนะรัฐพิจารณารอบด้านก่อนสั่งห้ามนำเข้าแร่ใยหินจาก ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 25, 2011 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างเรียกร้องให้รัฐบาลรอดูผลวิจัยเกี่ยวกับแร่ใยหินก่อนพิจารณาตัดสินใจสั่งห้ามนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะอาจตกเป็นเครื่องมือขององค์กรต่างชาติที่เคลื่อนไหวให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทั่วโลก โดยมีเบื้องหลังที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลผู้อนุญาตให้นำเข้าและผู้ประกอบการที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า

"ในประเทศที่สั่งยกเลิกการใช้แร่ใยหินได้เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก แม้ผู้ประกอบการจะยกเลิกการผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหินไปแล้วก็ตาม ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายถึงกับล้มละลาย" นายอุฬาร เกรียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าว

ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าวว่า การเริ่มต้นกล่าวหาว่าใยหินเป็นผู้ร้ายในสังคมไทยนั้นเกิดขึ้นจากกระแสของต่างชาติ โดยมีองค์กรที่ชื่อว่า IBAS(International Ban Asbestos Secretariat) ทำการเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกการใช้ใยหินทั่วโลก โดยเบื้องหลังขององค์กรนี้คือผู้ที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลผู้อนุญาตให้นำเข้าและผู้ประกอบการที่ใช้ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลังจากที่ห้ามใช้ใยหินแล้ว

"หากรัฐบาลบอกว่าใยหินอันตรายและสั่งให้รื้อหลังคาใยหิน ให้เลิกใช้เบรกที่มีใยหินทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อคนไทยหลายล้านคน ที่ต้องจ่ายเงินมากขึ้นจากมาตรการของรัฐที่ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบอย่างชัดเจน ซึ่งในหลายประเทศที่รู้ทันฝรั่ง เช่น เวียดนาม และอินเดีย ก็เพิ่งมีการพิจารณาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ไม่ทำตามคำเรียกร้องของเอ็นจีโอที่ต้องการให้เลิกใช้ใยหินในประเทศ" นายอุฬาร กล่าว

ด้านนายมานพ เจริญจิตต์ ผู้อำนวยการศูนย์ไครโซไทล์ กล่าวว่า การนำข้อมูลจากต่างประเทศมาอ้างแล้วตัดสินใจยกเลิกการนำเข้าใยหินมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยนั้นไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เนื่องจากลักษณะการใช้งานใยหินในต่างประเทศแตกต่างจากประเทศไทย บางประเทศนำไปพ่นเพื่อป้องกันความหนาวเย็นจากสภาพอากาศ ทำให้มีความเข้มข้นของใยหินสูงถึง 80-90% จึงมีความเสี่ยงต่อการกระจายของเส้นใยหินมากกว่า ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ โดยนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าที่มีสัดส่วนเพียง 6-8% และเมื่อผสมในซีเมนต์แล้วก็เป็นเรื่องยากที่เส้นใยหินไครโซไทล์จะฟุ้งกระจายในอากาศจนก่อให้เกิดอันตราย

ปัจจุบันแร่ใยหินไครโซไทล์ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมใน 114 ประเทศ คิดเป็นจำนวนประชากรกว่า 5,565 ล้านคน และมีเพียง 48 ประเทศที่ห้ามใช้ หรือคิดเป็นจำนวนประชากรเพียง 1,048 ล้านคนเท่านั้น โดยประเทศสหรัฐ และแคนาดา ยังคงอนุญาตให้ใช้ใยหินไครโซไทล์ในสินค้าบางประเภท

"รัฐบาลควรจะให้สถาบันที่เป็นกลางทำการศึกษาผลกระทบของใยหินในด้านต่างๆ อย่างชัดเจนก่อน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ทำ ทางศูนย์ฯ ก็ยินดีจะประสานงานกับนักวิชาการ หรือสถาบันที่น่าเชื่อถือ เพื่อทำเรื่องนี้ เพราะหากตัดสินใจยกเลิกไปแล้วจะกลับมาใช้อีกคงยาก และหากรัฐบาลไม่ฟังผลกระทบต่อผู้บริโภคก็ไม่รู้ว่าผู้บริโภคจะพึ่งใคร" นายมานพ กล่าว

นพ.สมชัย บวรกิตติ ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจและผู้ศึกษาโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสใยหินในประเทศไทย กล่าวว่า จากการศึกษาโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสแร่ใยหินไครโซไทล์(เมโสเธลิโอมา) พบว่า จากการรายงานผู้ป่วยเมโสเธลิโอมารายแรกในปี 2511 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานข้อมูลทางด้านการแพทย์ที่ยืนยันชัดเจนว่าใยหินเป็นสาเหตุของการเกิดโรค

นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นโรคเมโสเธลิโอมารายแรกนั้นเป็นช่วงเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะมีการนำเข้าใยหินไครโซไทล์มาใช้ในอุตสาหกรรมในปี 2518 และบางรายที่ป่วยไม่มีประวัติทำงานในโรงงานกระเบื้องหรือสัมผัสแร่ใยหินไครโซไทล์ จนกระทั่งกรณีที่มีรายงานว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสใยหิน แต่จากการตรวจสอบประวัติผู้เสียชีวิตรายนี้พบว่า เคยทำงานในโรงงานกระเบื้อง และสูบบุหรี่วันละ 1 ซอง จึงทำให้เชื่อว่าสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานมากกว่าการเป็นโรคเมโสเธลิโอมาจากการสัมผัสใยหิน เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายอื่นในโรงงานดังกล่าว

"หากจะรณรงค์ต่อต้านการใช้ใยหิน ไปรณรงค์เลิกปลูกต้นยาสูบและเลิกผลิตบุหรี่ในประเทศ รวมทั้งเลิกนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศจะได้ผลช่วยอนุรักษ์สุขภาพและเศรษฐกิจดีกว่าไปห้ามการใช้ใยหินในอุตสาหกรรมเป็นหมื่นๆ เท่า" นพ.สมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ