ก.เกษตรฯ เผยส่วนใหญ่ไทยยังได้เปรียบดุลการค้า หลังเปิด AFTA

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าสินค้าระหว่างไทยกับอาเซียน 9 ประเทศ ในเดือนม.ค. 54 พบว่า ไทยส่งออกสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) มีมูลค่า 14,900 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 8.29 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้ากลุ่มผัก (หอมหัวใหญ่และหอมหัวเล็ก) ผลไม้ (ลำไยสด/แห้ง) ชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ปีกสดมากขึ้น

ขณะที่การนำเข้าก็จะสูงกว่าเดือนม.ค. 53 ร้อยละ 87.15 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6,150 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 30,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,180 ล้านบาท และยังมีการนำเข้ากากน้ำมันจากผลปาล์ม น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ และมันเส้น/มันอัดเม็ดจากอาเซียนเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ไทยมีความได้เปรียบดุลการค้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 16.41 โดยมีมูลค่าเท่ากับ 8,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ นอกจากการติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรติดตามสถานการณ์การเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศอื่นที่มีผลบังคับใช้แล้วอีกด้วย

ในปัจจุบันความตกลงเอฟทีเอของไทยที่มีผลบังคับใช้สมบูรณ์และบางส่วน มีทั้งสิ้น 6 คู่เจรจา (ภายใต้ 9 กรอบเจรจา) โดยการค้าสินค้าเกษตรทั้งหมด (ไม่รวมยางพารา) พบว่า ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับทุกคู่เจรจา ยกเว้นกับนิวซีแลนด์ เนื่องจากต้องนำเข้านมผง ซึ่งเป็นลักษณะเช่นเดียวกับก่อนมีเอฟทีเอ สรุปได้ดังนี้ ไทย-จีน ไทยได้เปรียบดุลการค้า 33,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากปี 2552 โดยมีสินค้าสำคัญคือ ผัก ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้า 21,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปี 2552 เนื่องจากการส่งออกมันสำปะหลัง (หากไม่รวมมันสำปะหลัง ไทยจะเสียเปรียบดุลการค้า) และสำหรับผลไม้ ไทยกลับมาเสียเปรียบดุลการค้า 62 ล้านบาท เนื่องจากส่งออกลำไยแห้งลดลงประมาณ 600 ล้านบาท

ไทย-ญี่ปุ่น ไทยได้เปรียบดุลการค้า 109,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากปี 2552 โดยมีมูลค่าการส่งออก 117,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปี 2552 เนื่องจากส่งออกเนื้อสัตว์แปรรูปเพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 7,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปี 2552 เนื่องจากนำเข้าสัตว์มีชีวิตเพิ่มขึ้น

ไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้า 6,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากปี 2552 โดยไทยส่งออก 21,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2552 เนื่องจากส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น และนำเข้า 14,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปี 2552

ไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งไทยยังคงเสียเปรียบดุลการค้าเช่นเดียวกับก่อนมี FTA มูลค่า 7,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 89 จากปี 2552 ไทยส่งออก 3,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปี 2552 และนำเข้า 10,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากปี 2552 เนื่องจากนำเข้าแป้งและโกโก้เพิ่มขึ้น

ไทย-อินเดีย หากพิจารณาการค้าสินค้าเกษตรทั้งหมดพบว่าไทยส่งออก 8,600 ล้านบาท และนำเข้า 9,590 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2552 ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 900 ล้านบาท

และไทย-เกาหลี ไทยได้เปรียบดุลการค้า 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 65 จากปี 2552 ไทยส่งออก 11,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปี 2552 เนื่องจากส่งออกเนื้อสัตว์แปรรูปเพิ่มขึ้น และนำเข้า 5,470 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 จากปี 2552

“นอกจาการติดตามสถานการณ์ในด้านมูลค่าการค้าแล้ว ยังมีการติดตามสถานการณ์ในรายสินค้าในเชิงปริมาณอีกด้วย เพื่อให้เห็นทิศทางของการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยในสินค้าบางรายการ จึงได้เปรียบเทียบปริมาณการนำเข้ารายเดือน เทียบกับค่าเฉลี่ยของช่วงเดียวกัน 3 ปีย้อนหลัง พบว่า สินค้าที่นำเข้าสูงกว่าค่าปกติ คือ เนื้อโค ซึ่งมีการเบี่ยงเบนทางการค้าโดยนำเข้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น แต่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาลดลง องุ่น ซึ่งมีการเบี่ยงเบนทางการค้าโดยนำเข้าจากจีนและอินเดียเพิ่มขึ้น แต่นำเข้าจากออสเตรเลียลดลง และกระเทียม โดยนำเข้าจากจีน พม่า และอินเดียเพิ่มขึ้น และ สินค้าที่นำเข้าใกล้เคียงค่าปกติ คือ นมผง ส้ม แอปเปิล สาลี่ และหอมหัวใหญ่” นายธีระ กล่าว

อนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยได้ดำเนินการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการลงเหลือร้อยละ 0 (ยกเว้นสินค้าที่อยู่ในบัญชีอ่อนไหว 4 รายการ คือ ไม้ตัดดอก เมล็ดกาแฟ มันฝรั่ง และเนื้อมะพร้าวแห้ง มีภาษีนำเข้าร้อยละ 5) และทยอยออกประกาศเพื่อยกเลิกมาตรการโควตาภาษีสำหรับสินค้า 23 รายการแล้ว โดยสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรไม่รวมยางพารา ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ในช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา พบว่า มีมูลค่าการค้า 215,400 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 25 โดยไทยส่งออก 167,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 47,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เพราะฉะนั้นไทยจึงได้เปรียบดุลการค้า 120,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34

โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยขยายปริมาณการส่งออกไปอาเซียนมากขึ้น เช่น กลุ่มสัตว์มีชีวิต กลุ่มเมล็ดพันธุ์พืชผัก เมล็ดปาล์มและเมล็ดในปาล์ม กลุ่มชิ้นส่วนเนื้อสัตว์เพื่อบริโภค และน้ำตาล เป็นต้น และสินค้าที่มีการนำเข้าจากอาเซียนมากขึ้น เช่น น้ำตาลและขนม แป้งสาลี ปลาป่น กากน้ำมันปาล์ม เมล็ดกาแฟ และพริกไทย เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ