นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากอุปสงค์/อุปทานของตลาดในปีนี้ สถานการณ์ข้าวไทยจะมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากตลาดข้าวโลกจะค่อนข้างมีความตึงตัว ประเทศผู้นำเข้าสำคัญ เช่น อินโดนีเซียและบังคลาเทศ จะยังคงมีการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มสต็อกข้าวภายในประเทศในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และฟิลิปปินส์จะต้องมีการเปิดประมูลนำเข้าข้าวไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านตันในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยในขณะนี้ได้เริ่มให้ภาคเอกชนได้นำเข้าข้าวบ้างแล้ว นอกจากนี้ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ของโลกกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะกระทบต่อผลผลิตข้าวสำหรับการบริโภค โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจีนได้ส่งออกข้าวลดลงและมีการนำเข้าข้าวมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ ดังนั้น สถานการณ์ของประเทศต่างๆ ในโลกจะเป็นปัจจัยบวกในการสนับสนุนการส่งออกข้าวไทยและราคาข้าวในประเทศอย่างแน่นอนในระยะยาว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 24 กุมภาพันธ์ 2554 ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 1,759,162 ตัน มูลค่า 1,018 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 30,642 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ที่มีปริมาณ 1,300,506 ตัน มูลค่า 807 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 26,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.27, 26.16 และ 15.46 ตามลำดับ และคาดว่าในปี 2554 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 9-9.5 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 5,300-5,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 150,000-158,000 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ราคาข้าวภายในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตรงข้ามกับที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ นายมนัส กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของราคาข้าวภายในประเทศเป็นเพียงการตอบสนองต่อภาวะตลาดโลกในขณะนี้ที่มีการชะลอตัว เนื่องจากพ่อค้าและผู้นำเข้าต่างรอผลผลิตข้าวของเวียดนามที่จะออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นปริมาณมากกว่า 12 ล้านตัน ประกอบกับเวียดนามได้มีการลดค่าเงินดอง ซึ่งทำให้มีการปรับลดราคาส่งออกลงเพื่อจะช่วยรองรับผลผลิตข้าวที่กำลังเก็บเกี่ยวและกระตุ้นการส่งออก โดยในปี 2554 เวียดนามตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวไว้ที่ 6.1 ล้านตัน(ปี 2553 เวียดนามส่งออกข้าวได้ 6.75 ล้านตัน) โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเวียดนามส่งออกข้าวแล้ว 0.47 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าปีนี้เวียดนามจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตามหากผลผลิตข้าวในฤดูหลักของเวียดนามออกสู่ตลาดหมดแล้วในช่วงเดือนมีนาคม ผลผลิตข้าวของเวียดนามจะทยอยลดลงและทำให้การส่งออกชะลอตัว ในขณะที่ไทยยังมีการผลิตข้าวได้อย่างต่อเนื่องและสามารถส่งออกได้ตลอดทั้งปี จึงทำให้ไทยมีความได้เปรียบในการส่งออกมากขึ้น
"สถานการณ์ชะลอตัวของตลาดข้าวโลกดังกล่าวเป็นไปตามวัฏจักรของอุปสงค์/อุปทานซึ่งจะเกิดขึ้นทุกปี แต่สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งเมื่อผ่านช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ภาวะตลาดข้าวโลกโดยรวมจะกลับสู่ภาวะปกติและมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี" นายมนัส กล่าว
นอกจากนี้ การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลต่อราคาข้าวตกต่ำ เนื่องจากข้าวส่วนใหญ่ยังอยู่ในคลังสินค้าของรัฐบาล
"การระบายข้าวสารที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนว่าผู้ซื้อที่ซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาลจะต้องส่งออกไปต่างประเทศตามกำหนดสัญญาที่ได้ทำกับลูกค้า และภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการรับมอบและขนย้ายข้าวสาร และการส่งออกต่างประเทศ ซึ่งผู้ซื้อจะต้องแจ้งต่อหน่วยงานราชการ (องค์การคลังสินค้า/องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร) เกี่ยวกับปริมาณการส่งออกข้าวดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้ผู้ซื้ออยู่ในระหว่างการทยอยรับมอบข้าวสารตามกำหนดเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 เดือน จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่จะมีข้าวสารปริมาณมากจากการระบายในสต็อกของรัฐบาลอยู่ภายในประเทศและส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ เนื่องจากข้าวสารส่วนใหญ่ยังอยู่ในคลังสินค้าของรัฐบาล ทั้งนี้ ผู้ซื้อที่รับมอบข้าวสารแล้วจะต้องส่งออกข้าวภายใน 45 วัน นับแต่วันที่รับมอบข้าวสาร หากไม่ดำเนินการส่งออก ทางราชการได้กำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน"