ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics ระบุว่า ทุกๆร้อยละ 10 ที่เพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกจะส่งผลทางตรงให้เงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation) เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 0.5 โดยใช้เวลาส่งผ่านไม่เกิน 1 เดือน และจะส่งผลทางอ้อมไปยังเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ให้สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยใช้เวลาการส่งผ่านเพียง 6 เดือน ขณะที่ GDP ในระยะสั้นจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ยังต้องจับตามองหากสถานการณ์ลุกลามจนทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดลง
ในด้านการผลิต ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 จะทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้นร้อยละ 2.2 ซึ่งหากแยกตามกลุ่มการผลิตจะพบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบรวมมากที่สุด คือ การขนส่ง โดยจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 รองมาคือการผลิตไฟฟ้าและร้บเหมาก่อสร้างที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ทั้งนี้ยังมีกลุ่มที่ต้องจับตามองอื่นๆอีก เช่น เกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบรวมร้อยละ 2.7 และกลุ่มอาหารที่ถึงแม้จะมีผลกระทบรวมแค่ร้อยละ 2.1 แต่ว่ามีสัดส่วนใน GDP สูงมากอยู่ที่ร้อยละ 5.0
สำหรับผลกระทบต่อภาคครัวเรือนในประเทศไทยนั้น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคครัวเรือนผ่านราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ โดยจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่าประชาชนในกรุงเทพจะใช้น้ำมันเบนซินมากขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ขณะที่คนในชนบทจะใช้น้ำมันดีเซลในกลุ่มผู้มีรายได้สูง สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ยานพาหนะที่คนกรุงเทพเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นมักนิยมใช้รถยนต์ แต่สำหรับคนชนบทที่นิยมใช้รถจักรยานยนต์ซึ่งต้องใช้น้ำมันเบนซินและเมื่อมีรายได้เพิ่มจึงจะหันไปใช้รถกระบะแทน
ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบในโลกสูงขึ้น ในแง่การบริโภค ผู้มีรายได้ต่ำในชนบทจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้มีรายได้สูงในชนบท เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบมากกว่าราคาน้ำมันดีเซลที่ยังมีกองทุนน้ำมันคอยสนับสนุนราคาอยู่
ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวมาแตะที่ระดับ 107 เหรียญต่อบาร์เรล