ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ร่วงหลังตลาดคาดเฟดเดินหน้าหนุนใช้มาตรการ QE

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 1, 2011 07:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและสกุลเงินอื่นๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (28 ก.พ.) เนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่านายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงสนับสนุนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ขณะที่ค่าเงินยูโรทะยานขึ้นแข็งแกร่งก่อนที่การประชุมกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ และค่าเงินปอนด์ได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางอังกฤษจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากต้นทุนราคาอาหารและน้ำมันภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.40% เมื่อเทียบกับยูโรที่ระดับ 1.3805 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.3750 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์พุ่งขึ้น 0.89% แตะที่ 1.6260 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6116 ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐขยับขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 81.800 เยน จากระดับของวันศุกร์ที่ 81.670 เยน และดีดขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9288 ฟรังค์ จากระดับ 0.9282 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียขยับขึ้น 0.07% แตะที่ 1.0180 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.0173 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ขยับขึ้น 0.19% แตะที่ 0.7521 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7507 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด รวมถึงเบอร์นันเก้ ประธานเฟดได้ออกมากล่าวปกป้องการใช้มาตรการ QE2 ว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดอาจจะเดินหน้าใช้ QE2 ไปจนจบโครงการในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินสูงขึ้น แต่ส่งผลกดดันมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์

ในการประชุมเมื่อเดือนพ.ย.ปี 2553 คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดได้ตัดสินใจใช้มาตรการ QE2 ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐ มูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ โดยทยอยซื้อในสัดส่วน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.2554 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารย์ทั้งในและต่างประเทศ

จอร์จ เมลโลน รองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลายแห่งของโลกตำหนิว่า สหรัฐเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก โดยมาตรการ QE2 ซึ่งดำเนินการผ่านการซื้อพันธบัตรมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ของเบอร์นันเก้ เป็นต้นเหตุของเงินเฟ้อ และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเบอร์นันเก้จะสามารถรักษาตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐได้ที่ระดับ 2% ได้หรือไม่ เนื่องจากราคาน้ำมันและอาหารกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ

นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีนี้อย่างใกล้ชิด หลังจากมีการคาดการณ์ว่าอีซีบีอาจจะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อในยูโรโซนพุ่งขึ้นแตะระดับ 2.3% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปที่กำหนดไว้ต่ำกว่า 2%

ค่าเงินปอนด์ได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางอังกฤษอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของอังกฤษ ขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 4.0% จากระดับ 3.7% ในเดือนธ.ค. ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคประจำเดือนม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.37 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 0.2% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.83 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 0.7% ส่วนอัตราการออมส่วนบุคคลในเดือนม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8% ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์การเงินในปี 2550 ที่ระดับ 2.1%

ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงตัวเลขจ้างงานเดือนก.พ.ภาคเอกชน, รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีภาคบริการเดือนก.พ., ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ. และยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนม.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ