ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งเทียบยูโร,เยน หลังภาคการผลิตสหรัฐแข็งแกร่ง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 2, 2011 07:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 มี.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง โดยดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นแม้ เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในระหว่างการแถลงนโยบายรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสเมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูการประชุมธนาคารกลางยุโรปในช่วงเย็นวันพฤหัสบดีตามเวลาประเทศไทย โดยมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอาจจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้น 0.22% เมื่อเทียบกับยูโรที่ระดับ 1.3771 ยูโร จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.3801 ยูโร ส่วนค่าเงินปอนด์ทรงตัวที่ 1.6256 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 81.910 เยน จากระดับของวันจันทร์ที่ 81.760 เยน และขยับขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9295 ฟรังค์ จากระดับ 0.9288 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.49% แตะที่ 1.0133 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.0183 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.52% แตะที่ 0.7479 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7518 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.พ. ขยายตัวที่ระดับ 61.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.ที่ระดับ 60.8 จุด ซึ่งเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี และยังทำสถิติขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19

ความแข็งแกร่งในภาคการผลิตของสหรัฐช่วยหนุนดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ แม้เบอร์นันเก้แถลงนโยบายเศรษฐกิจรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งวุฒิสภาสหรัฐเมื่อคืนนี้ ว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงินในเชิงปริมาณรอบสอง หรือ QE2 ที่เฟดดำเนินการผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์นั้น เป็นมาตรการจำเป็นที่จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลง ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น

นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีนี้อย่างใกล้ชิด หลังจากมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอาจจะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อในยูโรโซนพุ่งขึ้นแตะระดับ 2.3% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปที่กำหนดไว้ต่ำกว่า 2%

ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงตัวเลขจ้างงานเดือนก.พ.ภาคเอกชน, รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีภาคบริการเดือนก.พ., ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ. และยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนม.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ