นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการส่งออกพืชผักไปยังสหภาพยุโรป (EU)ว่า ทางสหภาพยุโรปได้มีหนังสือตอบกลับมาว่ารับข้อเสนอการตรวจสอบ 100% ในสินค้าพืช 5 กลุ่ม 16 ชนิด ที่ตรวจพบปัญหาศัตรูพืชบ่อยครั้ง และทางสหภาพยุโรปกำหนดให้ประเทศไทยเริ่มต้นการดำเนินการอย่างเคร่งครัดดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์ และหลังจากครบกำหนดในวันที่ 15 มีนาคมเป็นต้นไป หากมีการตรวจพบปัญหาศัตรูพืชเกิน 5 ครั้งภายในระยะเวลา 1 ปี สหภาพยุโรปจะดำเนินกระบวนการห้ามนำเข้าสินค้าพืชทั้ง 16 ชนิด
นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังได้แจ้งเพิ่มเติมว่าตามกฎระเบียบสหภาพยุโรป (Directive 2000/29/EC) ได้กำหนดพืชควบคุมรายละเอียดชนิดพืชประเภทผัก ผลไม้ ไม้ตัดดอก ไม้ประดับเพื่อการปลูกต่อ และเมล็ดพันธุ์อีกด้วย ซึ่งการส่งออกสินค้าดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบด้านสุขอนามัยพืชดังกล่าวอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกัน
นายศุภชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนในการกำกับ ควบคุม และตรวจสอบการส่งออกพืชผักไปยังอียู ซึ่งแม้ว่าปริมาณการส่งออกพืชผักทั้ง 16 ชนิดจะมีมูลค่าไม่มากนัก แต่หากมีการระงับการส่งออกพืชผักชนิดดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรในชนิดอื่นๆ ในอนาคต
ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ไทยจะต้องถูกระงับการส่งออกพืชผัก โดยเร่งควบคุมการผลิตสินค้าส่งออกให้เป็นไปตามมาตรฐานสหภาพยุโรป ไม่มีโรค แมลงศัตรูพืชติดไปกับสินค้า และต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชแนบไปกับสินค้าทุกครั้ง และหากมีการตรวจพบศัตรูพืชและแจ้งเตือนกลับมา โดยดำเนินการ 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมพิเศษการส่งออกผักผลไม้ไปสหภาพยุโรป ซึ่งขณะนี้มีผู้ส่งออกเข้าร่วมแล้วจำนวน 14 บริษัท และมีการแจ้งข้อมูลพืชผักรวม 43 ชนิดพืช และต้องดำเนินการจัดหาสินค้าในการส่งออก และต้องนำผลผลิตมาจากแปลงจีเอพีเท่านั้น โดยกรมวิชาการเกษตรจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่ามีผลผลิตเป็นไปตามจำนวนพืชส่งออก และต้องมีการตรวจสอบที่ด่านอย่างเข้มงวดตามที่กำหนด เมื่อตรวจพบศัตรูพืชต้องดำเนินการระงับการส่งออก
2. เชิญเจ้าหน้าที่จากอียูมาให้คำแนะนำทางวิชาการโดยเร่งด่วน และ 3.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและควบคุมบังคับใช้กฎหมาย หากมีการลักลอบส่งออกพืชผักไปอียูจะมีการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินคดีกับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบการส่งออกพืชแล้ว 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ธนาสารท จำกัด 2.บริษัท สุรนำ ฟู้ด จำกัด 3.บริษัท สยาม อะโกร เฟรท จำกัด 4.ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็น ยู ไอ และ 5.บริษัท ช้างไทย เทรดดิ้ง จำกัด และมีอีก 12 บริษัทที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี