นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาในวาระสำคัญ 2 ประเด็น คือ 1.ผลการจัดทำการทดสอบความสนใจภาคเอกชน (Market Sounding) ในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง และ 2.ร่าง พ.ร.บ. PPPs ฉบับใหม่
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม โดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และกระทรวงการคลังโดย สคร.ได้ร่วมกันจัดการทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการรถไฟความเร็วสูงใน 2 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.สายตะวันออก (กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-ระยอง) และ 2.สายเหนือ (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ซึ่งผู้ร่วมงานได้แสดงความสนใจและมีคำถามเกี่ยวกับทั้ง 2 โครงการ อย่างกว้างขวาง
ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบาย เช่น ความซ้ำซ้อนของการเดินรถระหว่างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟปัจจุบัน, หน่วยงานเจ้าของโครงการจะเป็นหน่วยงานใด, ด้านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เช่น การแบ่งความเสี่ยงระหว่างภาครัฐและเอกชน, การกำหนดรูปแบบ PPPs ที่เหมาะสม, ด้านเทคนิค เช่น ความสั่นสะเทือนของการเดินรถจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานหรือไม่ และด้านการเงิน เช่น ภาครัฐจะสนับสนุนทางการเงินหรือไม่, การใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ในเชิงพาณิชย์จะเป็นอย่างไร เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติให้นำประเด็นที่ผู้เข้าร่วมงานได้ให้ความสนใจสอบถามสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทาง เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ(กบส.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวนโยบายในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทางให้เกิดความชัดเจนต่อไป
พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมศึกษารายละเอียดดังต่อไปนี้ 1.ความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการขยายเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ไปยังประเทศกัมพูชาผ่านจังหวัดตราด และเชื่อมต่อเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อให้สินค้าที่ส่งผ่านจากลาว สามารถส่งมายังท่าเรือแหลมฉบังได้
2.ศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) และจัดทำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องของโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทาง ให้มีรายละเอียดเพียงพอต่อการดำเนินการให้เอกชนเข้าร่วมงาน และสมควรศึกษาให้ครอบคลุมในรูปแบบการลงทุนในทุกๆ ด้าน 3.เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เป็นรางขนาดมาตรฐาน(Standard Gauge) จะใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสารเพียงอย่างเดียวหรือใช้ขนส่งสินค้าด้วย
4.หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะดำเนินการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงร่วมกับภาคเอกชนจะเป็นหน่วยงานใด และ 5.แนวทางการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ในเชิงพาณิชย์ของโครงการโดยเฉพาะในส่วนของสถานีอันจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนแก่โครงการ
นายไตรรงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการ PPPs ยังให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรอบและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงทุนของภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ. PPPs ฉบับใหม่) ที่ สคร.จัดทำขึ้น เพื่อให้กระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาโครงการที่จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน และคัดเลือกเอกชนมีความคล่องตัวและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สคร.จะจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในสาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ดังกล่าว จากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในวันที่ 9 และ 11 มี.ค.นี้ก่อนนำกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อพิจารณา
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs ด้านการบริหารจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อดำเนินการผลักดันโครงการ PPPs ด้านสาธารณสุขให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วและเหมาะสม
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวว่า สคร.จะเร่งดำเนินการทั้งในส่วนของการสร้างความชัดเจนด้านนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทาง เพื่อให้นักลงทุนเอกชนที่สนใจได้รับทราบ และการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. PPPs ฉบับใหม่หลังจากการรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป